ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

หลุมขุดค้นทางโบราณคดี


 

            ตั้งอยู่บนเนินดินขนาดย่อมในเขตเมืองใน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพได้ทำการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ. 2531 ในระดับความลึกจากผิวดินลงไปเล็กน้อยพบแนวกำแพงก่อด้วยศิลาแลง และเมื่อขุดต่อลงไปจนถึงระดับประมาณ 1 เมตรจากผิวดิน พบโครงกระดูกช้าง สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ขนาดความยาวประมาณ 3.75 เมตร ลักษณะนอนตะแคง ด้านซ้าย หันศีรษะไปทางด้านทิศเหนือ กระดูกขาหน้าทับซ้อนไขว้กันอยู่ ส่วนขาหลังเหยียดตรง โดยมีกลุ่มภาชนะดินเผาที่มีสภาพเกือบสมบูรณ์ 3 กลุ่ม และชิ้นส่วนหินบดวางอยู่ทางด้านเหนือของกะโหลกศีรษะช้าง และเมื่อขุดต่อลงไปอีกในระดับ 4 เมตรจากผิวดิน ได้พบโครงกระดูกมนุษย์จำนวน 5 โครงประกอบด้วย โครงกระดูกมนุษย์เพศหญิงความยาว 180 เซนติเมตร นอนหงายหันศีรษะไปทางด้านทิศเหนือ ที่แขนซ้ายบริเวณข้อศอกมีกำไลสำริดสวมอยู่ในมือซ้ายถือเครื่องมือเหล็กปลายแหลม ที่คอมีเครื่องประดับทำจากหินคาร์นีเลียนสีส้ม และลูกปัดดินเผากระจายอยู่ทั่วไป โครงกระดูกอีก 2 โครงมีสภาพไม่สมบูรณ์ นอนหันศีรษะไปทางด้านทิศเหนือเช่นเดียวกัน ที่ปลายเท้ามีภาชนะดินเผาวางอยู่ โครงกระดูกโครงหนึ่งเป็นโครงกระดูกของเด็ก ที่เหนือศีรษะมีภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ฝังร่วมอยู่ และลูกปัดดินเผากระจายอยู่โดยรอบทั้งสองโครง

            โครงกระดูกอีก 2 โครง พบว่าเป็นการฝังศพครั้งที่สองมีสภาพไม่สมบูรณ์ ฝังอยู่บริเวณระหว่างท่อนกระดูกขาตื้นกว่าโครงกระดูกมนุษย์เพศหญิงเล็กน้อย ลักษณะเป็นการนำกระดูกมนุษย์ที่เคยฝังไปแล้วครั้งหนึ่งใส่ในภาชนะดินเผา พร้อมกับกำไลสำริดและลูกปัดแล้วนำกลับมาฝังใหม่ โครงกระดูกมนุษย์เหล่านี้สามารถกำหนดอายุได้ว่ามีอายุราว 2,000 ปีมาแล้ว