ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

ประวัติ

       อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์จำนวน ๑๐ แห่งของประเทศไทยปัจจุบัน จัดตั้งขึ้นโดยกรมศิลปากร  กระทรวงวัฒนธรรม  เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗  สำหรับชื่อเรียก“ศรีเทพ”  นั้นเป็นการอนุโลมตามพระวินิจฉัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย  ที่ได้ทรงสันนิษฐานไว้ในคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ.๒๔๔๗

 

hp04 006

 

          พื้นที่ที่มีการตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพนั้น นับเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยปัจจุบัน เนื่องจากยังเป็นพื้นที่ที่ปรากฎร่องรอยหลักฐานซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์  วัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ ซึ่งรวมระยะเวลาที่มีความเจริญรุ่งเรืองถึงกว่า ๘๐๐ ปี ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไปด้วยสาเหตุโรคระบาดร้ายแรงหรือปัญหาภัยแล้งประการใดประการหนึ่งหรือทั้งสองประการ   ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙  อันเป็นช่วงก่อนที่วัฒนธรรมสุโขทัยและอยุธยาจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก และมีการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องมาจนเท่าถึงปัจจุบัน

 

hp04 010

 

          บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพในปัจจุบัน  ประกอบไปด้วยสองส่วนด้วยกัน   ส่วนแรกเป็นพื้นที่ในส่วนเมืองโบราณศรีเทพ  ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๒,๘๘๙ ไร่  หรือประมาณ ๔.๗  ตารางกิโลเมตร  มีลักษณะเป็นเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบแบบเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี    ที่ยังคงสามารถรักษารูปแบบแต่เดิมไว้ได้อย่างสมบูรณ์มากที่สุดโดยไม่ถูกเปลี่ยนแปลงแห่งหนึ่งของประเทศไทย  แบ่งพื้นที่ภายในเป็นสองเมืองที่นับได้ว่าเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะที่พบไม่มากนักในเมืองร่วมสมัยเดียวกันที่พบในปัจจุบัน โดยเมืองในมีพื้นที่ประมาณ ๑,๓๐๐ ไร่ เป็นเมืองรูปเกือบกลมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร  มีช่องประตูเมือง ๖ ช่องทาง และมีโบราณสถานซึ่งได้รับการขุดแต่งและบูรณะแล้วทั้งหมดประมาณ ๔๐ แห่ง  อันมีโบราณสถานเขาคลังใน   โบราณสถานปรางค์สองพี่น้อง และโบราณสถานปรางค์ศรีเทพเป็นกลุ่มโบราณสถานสำคัญ รวมทั้งมีสระน้ำและหนองน้ำขนาดใหญ่จนถึงเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปประมาณ ๗๐ สระ  ในขณะที่เมืองนอกมีพื้นที่ประมาณ ๑,๕๘๙ ไร่  เป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าต่อออกไปทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน  มีช่องประตูเมือง ๖ ช่องทาง และมีโบราณสถานซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและยังไม่ได้มีการขุดแต่งและบูรณะทั้งหมดประมาณ ๕๔ แห่ง รวมทั้งมีสระน้ำขนาดใหญ่จนถึงเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปประมาณ ๓๐ แห่ง  มีสระขวัญเป็นสระน้ำสำคัญที่มีขนาดใหญ่และตั้งอยู่กลางเมืองและ ส่วนที่สองเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเมืองโบราณศรีเทพ  ซึ่งเท่าที่สามารถสำรวจได้ในปัจจุบันนั้นมีโบราณสถานที่ยังมิได้มีการขุดแต่งและบูรณะประมาณ  ๕๐  แห่งและส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเมืองโบราณศรีเทพ  โดยมีโบราณสถานเขาคลังนอกที่เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดีเช่นเดียวกันกับโบราณสถานเขาคลังใน และโบราณสถานปรางค์ฤาษีที่เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมเขมรเช่นเดียวกันกับโบราณสถานปรางค์สองพี่น้องและโบราณสถานปรางค์ศรีเทพ เป็นโบราณสถานสำคัญ

          นอกจากนั้น บริเวณนอกเมืองโบราณศรีเทพห่างไปทางด้านทิศตะวันตก ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ยังมีโบราณสถานที่ถ้ำเขาถมอรัตน์เป็นภาพสลักบนผนังถ้ำ เป็นรูปพระพุทธรูป และพระโพธิ์สัตว์ ที่สร้างขึ้นตามความเชื่อของพุทธศาสนาลัทธิมหายานเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี   ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ อันมีความเกี่ยวพันที่ใกล้ชิดกับคติความเชื่อของผู้คนในเมืองโบราณศรีเทพในช่วงเวลาเดียวกันอีกด้วย