สิม (อุโบสถ) หลังเก่า วัดป่าก่อ
ตั้งอยู่หมู่ที่ ๙ บ้านป่าก่อ ตำบลหนองเหล่า อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ข้อมูลจากประวัติ วัดทั่วราชอาณาจักรระบุว่าวัดป่าก่อหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดโพธิ์ศรีมงคล” ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓
โบราณสถานสำคัญภายในวัด ได้แก่ สิม (อุโบสถ) หลังเก่า ปรากฏหลักฐานประวัติการก่อสร้างเป็นตัวอักษรเขียนสีอยู่ที่บริเวณผนังของอาคารระบุว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ และแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ มีลักษณะเป็นสิมทึบก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๕ ห้อง มีโถงหน้าแยกออกมาจากตัวอาคารหลัก มีขนาดความกว้างประมาณ ๔.๗๗ เมตร ยาว ๑๑.๑๐ เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ส่วนฐานเป็นฐาน เอวขัน บริเวณโถงหน้ามีบันไดทางขึ้น ๓ ด้าน โดยบริเวณด้านหน้าเว้นช่องวงโค้งโล่งขนาดใหญ่ ๓ ช่อง ส่วนด้านข้างเว้นช่องสี่เหลี่ยมโล่งขนาดใหญ่ข้างละ 1 ช่อง บริเวณทางเข้า-ออกสู่อาคารหลักมีประตูเพียงด้านเดียว ส่วนบริเวณผนังด้านข้างมีช่องหน้าต่างด้านละ ๓ ช่อง พร้อมกรอบบานเปิด-ปิด หลังคาทรงจั่วมุงด้วยกระเบื้องดินเผา ไม่ปรากฏการประดับช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ภายในสิมเป็นพื้นปูด้วยกระเบื้องดินเผา และปรากฏเพียงฐานชุกชี นอกจากนี้โดยรอบของสิมยังปรากฏการประดิษฐานใบเสมาและแท่นบูชาอยู่ด้วย
สิม (อุโบสถ) หลังเก่า วัดป่าก่อ เป็นโบราณสถานที่ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ แก้ไขเพิ่มเติมฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕
สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
โทร ๐-๔๕๓๑-๒๘๔๕
ประตูต้นไทร เป็นประตูเมืองด้านทิศเหนือของค่ายเนินวง ตั้งอยู่ที่ตำบลบางกะจะ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี ก่อสร้างในปีพุทธศักราช ๒๓๗๗ ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เพื่อเป็นปราการป้องกันพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก เนื่องจากบริเวณที่ตั้งของค่ายเนินวงมีภูมิประเทศเป็นเนินดินสูงกว่าพื้นที่โดยรอบ เหมาะแก่การตั้งทัพป้องกันข้าศึกศัตรู
ผังบริเวณค่ายเนินวง
ค่ายเนินวงเป็นเมืองที่มีกำแพงเมืองคูเมืองล้อมรอบ คูเมืองขุดลงไปในชั้นศิลาแลงธรรมชาติ กว้างประมาณ ๑๕ เมตร ดินที่ขุดคูเมืองนำมาถมเป็นกำแพงเมืองกว้างประมาณ ๒๕ เมตร สูงประมาณ ๕ เมตร บริเวณที่มีการเว้นช่องประตูจะมีการก่ออิฐเป็นกำแพงกันดิน โดยเว้นช่องประตูกว้างประมาณ ๓.๕๐ เมตร ไม่ปรากฏร่องรอยของบานประตู แต่มีเสาไม้จำนวน ๔ ต้น สูงประมาณ ๕ เมตร รองรับอาคารด้านบนซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นหอรบหรือหอสังเกตุการณ์ ประตูต้นไทรเป็นประตูเพียงแห่งเดียวจากประตูเมืองทั้งหมด ๘ ประตู ที่ยังคงหลงเหลือร่องรอยอาคารด้านบน
กำแพงเมือง (ซ้าย) และคูเมือง (ขวา)
เสาไม้และคานไม้ ก่อนการบูรณะ
ด้านข้างของอาคารทั้งสองด้านมีแนวใบบังทำจากศิลาแลง ยาวประมาณ ๗-๑๐ เมตร สูงประมาณ ๑.๕๐ เมตร และเชิงเทินกว้างประมาณ ๘ เมตร ยาวต่อเนื่องไปตลอดระยะกำแพงเมือง
ใบบังทำจากศิลาแลง ก่อนการบูรณะ
กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ดำเนินการบูรณะประตูต้นไทร ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๒ ก่อนดำเนินการบูรณะได้ทำการตัดแต่งกิ่งต้นไทรที่ขึ้นปกคลุมอาคารด้านบน ทำให้พบฐานอาคารก่ออิฐที่มีลักษณะเป็นฐานบัวคว่ำ มีทางเข้าออกจากด้านกำแพงเมืองทั้งสองฝั่ง ฐานอาคารตั้งอยู่บนไม้ซุงผ่าครึ่งวางเรียงกัน มีเสาไม้ คานไม้และผนังกันดินก่ออิฐเป็นตัวรองรับน้ำหนักอาคาร ไม่พบส่วนของผนังอาคารและโครงสร้างหลังคา อย่างไรก็ตามพบชิ้นส่วนปูนฉาบผนังอาคาร ลวดบัวปูนปั้นเป็นวงโค้ง กระเบื้องมุงหลังคา ดินเผา ทำให้สันนิษฐานว่าอาคารด้านบนของประตูเป็นอาคารที่มีฐานทำจากอิฐ มีผนังฉาบปูน มีช่องหน้าต่างหรือช่องประตูเป็นวงโค้งและมุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา
ประตูต้นไทรหลังการตัดแต่งกิ่งต้นไทรออก
ประตูต้นไทร ระหว่างการบูรณะ
ลวดบัวปูนปั้นเป็นวงโค้ง (ซ้าย) และ ชิ้นส่วนปูนฉาบผนังอาคาร (ขวา)
กระเบื้องมุงหลังคาดินเผา
ภาพสันนิษฐานอาคารด้านบนของประตูต้นไทร รูปแบบที่ ๑
ภาพสันนิษฐานอาคารด้านบนของประตูต้นไทร รูปแบบที่ ๒
ค่ายเนินวงได้รับการขึ้นทะเบียน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๗๑ ตอนที่ ๓ วันที่ ๕ มกราคม ๒๔๙๗
โบราณสถานปราสาทเขาโล้น : ตั้งอยู่ที่บ้านเจริญสุข ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว
ปราสาทเขาโล้นเป็นกลุ่มสิ่งก่อสร้างของเทวาลัย สร้างด้วยอิฐที่ขัดฝนจนรอยต่อของแต่ละก้อน เรียบสนิท ตั้งอยู่ที่บ้านเจริญสุข ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว โบราณสถานหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีปราสาทประธานเป็นจุดศูนย์กลางของศาสนสถาน เป็นอาคาร ๓ หลังเรียงตัวในแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ ตั้งอยู่บนฐานร่วมกันซึ่งเรียกว่าฐานไพที ปราสาทหลังกลางมีขนาดใหญ่กว่าปราสาทอีก ๒ หลังเล็กน้อย
ปราสาทเขาโล้นหลังการขุดแต่งทางโบราณคดี
ปราสาททั้ง ๓ หลังมีประตูทางเข้าเพียงช่องเดียวทางด้านทิศตะวันออก ส่วนอีกสามด้านเป็นประตูหลอก ภายในมีห้องสำหรับประดิษฐานรูปเคารพ แต่ปัจจุบันพบเพียงชิ้นส่วนแท่นฐานเท่านั้น ส่วนยอดเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปเรียกว่าชั้นวิมาน ในการดำเนินงานทางโบราณคดีพบชิ้นส่วนปราสาทจำลองและบรรพแถลงทำจากหินทราย สันนิษฐานว่าใช้ประดับในแต่ละชั้นของส่วนยอด
ชิ้นส่วนประดับส่วนยอดของปราสาทประธาน
ภาพสันนิษฐานปราสาทเขาโล้น
ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้มีอาคารที่เรียกว่าบรรณาลัย ซึ่งเป็นที่เก็บคัมภีร์หรือประดิษฐานรูปเคารพรอง บรรณาลัยหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเข้าหาปราสาทประธาน ทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว บริเวณกึ่งกลางกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก ทิศใต้และทิศตะวันตก มีซุ้มประตูที่เรียกว่าโคปุระ โคปุระทิศตะวันออกเป็นโคปุระที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และเป็นทางเข้า-ออกโบราณสถานเพียงทางเดียว
บรรณาลัย (ซ้าย) และโคปุระทิศตะวันออก (ขวา) หลังการขุดแต่งทางโบราณคดี
ผังบริเวณปราสาทเขาโล้น
แผนผังของปราสาทเขาโล้นมีลักษณะคล้ายกับแผนผังของปราสาทเขมรที่สร้างราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ในศิลปะบาปวน เช่น ปราสาททอง จังหวัดบุรีรัมย์ และปราสาทสด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว
ปราสาทเขาโล้นตั้งอยู่บนยอดภูเขาหินทราย จึงมีการใช้ประโยชน์จากหินทรายธรรมชาติ โดยนำมาปรับแต่งพื้นที่บนยอดเขาให้เป็นเนินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพื่อก่อสร้างปราสาท และนำมาวางเรียงให้เป็นทางขึ้นสู่ปราสาท บริเวณเชิงเขามีบารายหรืออ่างเก็บน้ำที่สร้างจากคันดินคร่อมลำน้ำธรรมชาติสำหรับกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในศาสนสถานและชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณปราสาท
ปราสาทเขาโล้นก่อนการขุดแต่งทางโบราณคดี
ปราสาทเขาโล้นสร้างขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เนื่องจากมีการค้นพบจารึกที่บริเวณวงกบประตูระบุศักราชที่ตรงกับพุทธศักราช ๑๕๕๙ ซึ่งอยู่ในรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ สอดคล้องกับรูปแบบศิลปะของทับหลังที่กำหนดอายุได้่ในศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนต้น โดยเป็นรูปบุคคลหรือเทวดานั่งอยู่เหนือเกียรติมุขหรือหน้ากาล อันเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการปกป้องสิ่งชั่วร้าย นิยมประดับอยู่เหนือประตูทางเข้า หน้ากาลอ้าปากแลบลิ้น มีท่อนพวงมาลัยโผล่ออกมาจากใต้ลิ้น มือทั้งสองข้างจับพวงมาลัยไว้ ปลายพวงมาลัยขมวดเป็นลายก้านขด
ทับหลังปราสาทเขาโล้น
ที่มา : http://asianart.emuseum.com เข้าถึงเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๓
จากหลักฐานภาพถ่ายเก่า พบว่าบริเวณซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธานเคยมีวงกบประตู เสาประดับกรอบประตูแปดเหลี่ยม และทับหลังทำจากหินทราย ซึ่งปัจจุบันพบว่าจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในต่างประเทศ กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการขอนำกลับคืนสู่ประเทศไทย เพื่อนำความสมบูรณ์ให้กลับคืนมาสู่ปราสาทเขาโล้นดังเดิม
ภาพถ่ายซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกของปราสาทเขาโล้น
ที่มา : สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ., ศิลปสมัยลพบุรี, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๑๐.
โบราณสถานปราสาทเขาโล้นได้รับการขึ้นทะเบียน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๖ ตอนที่ ๑๑๒ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๓๒