ธาตุตาดทองตั้งอยู่ที่บ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร มีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นวงรี วางตัวตามแนวแกนทิศตะวันออกเฉียงเหนือ – ตะวันตกเฉียงใต้   พระธาตุ หรือธาตุ เป็นภาษาท้องถิ่นอีสาน ใช้เรียกสิ่งก่อสร้างที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับคำว่า เจดีย์ หรือ สถูป ของภาคกลาง แต่ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างสายศิลปวัฒนธรรมไท – ลาว ทำให้สถาปัตยกรรมของพระธาตุ ในภาคอีสาน มีลักษณะแตกต่างจากเจดีย์ หรือ สถูป ที่มีพัฒนาการมาจากอินเดีย ของทางภาคกลางของประเทศไทย


ด้านทิศตะวันออก

          ประวัติความเป็นมาของธาตุตาดทองได้มีตำนานกล่าวไว้ 2 เรื่องด้วยกัน คือ เรื่องที่แรกกล่าวไว้ว่า มีผู้คนในลุ่มแม่น้ำมูลส่วนหนึ่ง (อ.รัตนบุรี) ทราบข่าวว่ามีการบูรณะพระธาตุพนม ที่จังหวัดนครพนม จึงได้รวบรวมวัตถุมงคลสิ่งของมีค่า เพื่อจะนำไปบรรจุไว้ในพระธาตุพนม ได้เดินทางมาพักอยู่ใกล้ๆ กับบ้านตาดทอง ในขณะนั้นชาวบ้านสะเดาตาดทอง ที่ไปช่วยบูรณะพระธาตุพนมเดินทางกลับมาพอดี และได้แจ้งว่าการบูรณะพระธาตุพนมเสร็จสิ้นแล้ว ผู้คนเหล่านั้นจึงตัดสินใจสร้างเจดีย์ครอบวัตถุอันมีค่าที่นำมาด้วยนั้นไว้ ประกอบกับชาวสะเดาตาดทองได้นำถาดทองที่ใช้เป็นพานอัญเชิญวัตถุมงคลไปบรรจุในพระธาตุพนมมารองรับวัตถุมงคลที่ญาติพี่น้องจากลุ่มน้ำมูลนำมาแล้วช่วยกันก่อเจดีย์บรรจุไว้

 
             ด้านทิศเหนือ                                            พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายในอูบมุง

          ตำนานเรื่องที่สอง กล่าวว่า ในระหว่างการก่อสร้างเจดีย์องค์นี้ ได้เกิดเหตุการณ์ลูกฆ่าแม่ เพราะความโมโหหิวเมื่อก่อสร้างเจดีย์องค์นี้เสร็จคนก็มักเรียกเจดีย์นี้ควบกับเหตุการณ์ท้องถิ่นที่เกิดเรื่องว่า ธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่

          ลักษณะของธาตุก่องข้าวน้อย (ถาดทอง) เป็นธาตุทรงสี่เหลี่ยม รับอิทธิพลมาจากพระธาตุอานนท์   วัดมหาธาตุ จังหวัดยโสธร สถาปัตยกรรมของธาตุตาดทองประกอบด้วย ส่วนฐาน มีลักษณะเป็นฐานเขียงซ้อนกัน 4 ชั้น ถัดไปเป็นฐานบัว ตรงกลางเป็นท้องไม้ มีลูกแก้วอกไก่ขั้นตรงกลาง ส่วนเรือนธาตุ ยื่นซุ้มออกมาทั้ง 4 ทิศ เป็นซุ้มจรนำ ส่วนยอดธาตุมียอดแซมทั้ง 4 ทิศ และก่อยื่นมาจากยอดจริง


ส่วนยอดธาตุ


ส่วนเรือนธาตุ


ส่วนฐานธาตุด้านทิศเหนือ

          พื้นที่บริเวณธาตุตาดทอง มีกลุ่มธาตุบริวารรอบธาตุตาดทอง มีลักษณะจำลองจากพระธาตุองค์ใหญ่แต่มีลักษณะที่เรียบง่ายกว่า ด้านหน้าขององค์ธาตุมีอูบมูง ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็ก เป็นสถาปัตยกรรมแบบอีสานลาว หลังคาโค้งมน ประดับลายปูนปั้น บริเวณสันมุมทั้งสี่ของหลังคาเป็นรูปพญานาคผงกหัวขึ้นที่ส่วนปลาย ลำตัวทอดยาวไปตามความโค้งของหลังคา ส่วนยอดคล้ายองค์ธาตุจำลอง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป นอกจากนี้ยังพบใบเสมาจำนวนหลายหลักปักอยู่ในบริเวณนี้ด้วยเช่นกัน

          ธาตุตาดทองได้รับการขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2497 กำหนดขอบเขตโบราณสถานในเล่มที่ 99 ตอนที่ 155 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2525 มีเนื้อที่ 3 งาน 99 ตารางวา

 

         วัดราษฎร์ประดิษฐ์

          หมู่ที่ 2 บ้านกระเดียน ตำบล กระเดียน อำเภอ ตระการพืชผล จังหวัด อุบลราชธานี

          วัดราษฏร์ประดิษฐ์ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปีพุทธศักราช 2470 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 11.50 เมตร ยาว 16.5 เมตร เป็นวัดที่ชาวบ้านกระเดียนใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนาเป็นเวลานานตั้งแต่บรรพบุรุษ จนถึงปัจจุบัน วัดราษประดิษฐ์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พุทธศักราช 2545 จากกรมศิลปากร

ศาลาการเปรียญ

          ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2468 สร้างขึ้นก่อนพระอุโบสถ ก่อด้วยอิฐฉาบปูนทั้งสองด้าน โดยใช้อิฐที่เผาขึ้นเองซึ่งชาวบ้านได้ใช้ดินจากหนองคันใส บริเวณตะวันออกของหมู่บ้าน ภายในมีการก่อสร้างธรรมาสน์ไว้กลางศาลา เพื่อใช้ในการแสดงธรรมของพระภิกษุ ซึ่งศาลาการเปรียญเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านใช้ปฏิบัติศาสนกิจในวันสำคัญทางศาสนา บริเวณทางเข้ามีปฏิมากรรมปูนปั้นรูปสัตว์คล้ายกิเลนอยู่ทั้งสองข้าง ประตูทำด้วยไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่สองบาน ด้านหน้ามีการตกแต่งด้วยไม้ฉลุลาย ตามแนวความคิดและความเชื่อของชาวบ้านในสมัยนั้น จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ทราบว่าช่างที่ก่อสร้างศาลาการเปรียญนี้มีทั้งช่างพื้นบ้าน และช่างชาวญวนอพยพที่เข้ามาขายแรงงานในสมัยนั้น

 พระอุโบสถ

          ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2478 เป็นอุโบสถก่อด้วยอิฐ ฉาบปูนเรียบทั้งสองด้าน หน้าบรรณวาดลวดลายเขียนสีเป็นรูปคล้ายมังกรพ่นน้ำ อีกด้านเขียนเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ในป่าหิมพานต์ สีสันสวยงามและแปลกตา เนื่องจากเป็นศิลปะช่างญวน ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนพิธี ปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุสงฆ์ และเป็นที่อุปสมบทให้แก่กุลบุตร โดยมีการก่อสร้างเสมารอบพระอุโบสถ และมีกำแพงล้อมรอบ โดยสร้างจากอิฐชนิดเดียวกัน ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยก่ออิฐถือปูน ศิลปะไทยอีสาน และเป็นที่รวบรวมพระพุทธรูปบูชาปางต่าง ๆ ทั้งที่แกะจากไม้และหล่อด้วยโลหะ บันไดทางขึ้นมีศิลปะปูนปั้นเป็นรูปคล้ายพญานาคผสมมังกร เหนือบานประตูทางเข้ามีภาพวาดพระพุทธรูปด้วยลายเส้นพระอุโบสถแห่งนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก

 กุฏิลาย

          เป็นกุฏิที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง มีเสาจำนวน 12 ต้น จำนวน 2 หลัง หลังคาเดิมมุงด้วยแผ่นไม้ทั้งหมด แต่เนื่องจากมีอายุการก่อสร้างเป็นเวลายาวนาน ทำให้ไม้มุงหลังคาผุพัง ชาวบ้านจึงร่วมกันเปลี่ยนเป็นสังกะสี ด้านหน้าจั่วและฝาผนังกุฏิมีการติดประดับด้วยกระจก เพื่อให้เกิดความสวยงาม และใช้สีทาตกแต่งฝาผนังกุฏิ และมีการใช้ไม้แผ่นแกะสลักลวดลาย เพื่อแสดงให้เห็นภูมิปัญญา และฝีมือเชิงช่างพื้นบ้านอีสาน (ญาท่านพันเป็นผู้นำในการก่อสร้าง) ปัจจุบันกุฏิลายชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจกกรมศิลปากรแล้ว

          เดิมกุฏิไม้วัดราษฏร์ประดิษฐ์ เป็นอาคารก่อสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ใต้ถุนโล่งหลังคาทรงจั่ว ก่อสร้างเป็น 3 หลังชิดกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มุงหลังคาด้วยไม้แป้นเกล็ด ประดับหลังคาด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ทำด้วยไม้แกะสลัก ปัจจุบันกุฏิไม้วัดราษฏร์ประดิษฐ์ เหลือเพียง 2 หลัง คือ กุฏิหลังด้านทางทิศเหนือ (หลังกลางเดิม) จะเป็นอาคารโล่งไม่มีผนัง ที่ระเบียงด้านหน้าของอาคารมีบันไดขึ้น 2 ด้าน และกุฏิหลังด้านทิศใต้จะมีฝาผนังไม้กั้น ภายในเป็นห้องสำหรับที่พักจำนวนหนึ่งห้อง และฝาผนังไม้ด้านนอกจะทำการเซาะร่องระบายสีเป็นลูกฟักไม้ทั้งหลัง ซึ่งมีลักษณะคล้ายไม้ฝาปะกน หน้าจั่วประดับด้วยไม้ปิดหน้าจั่วลวดลายดวงอาทิตย์ฉายแสง แกะลวดลายที่ดวงอาทิตย์อย่างวิจิตรสวยงาม

 ธรรมมาสน์

          ตั้งอยู่ภายในศาลาการเปรียญ เป็นศิลปะผสมระหว่างศิลปะอีสานกับศิลปะญวน สร้างด้วยไม้ฉลุเป็นลวดลาย และทาสีด้วยสีจากธรรมชาติ ซึ่งยังสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจนถึงทุกวันนี้ และมีบันไดซึ่งทำจากไม้เนื้อแข็ง มีการตกแต่งลวดลายอย่างงดงาม จัดเป็นโบราณวัตถุที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน ธรรมาสน์นี้เป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการแกะฉลุลวดลาย และการใช้สี การตกแต่งบันไดทางขึ้นธรรมาสน์ ปัจจุบันยังมีการใช้งานธรรมาสน์นี้ในการแสดงธรรมในบุญมหาชาติของชาวบ้าน

          วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ 

          ตั้งอยู่บ้านชีทวน หมู่ที่ 2 ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี