หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์ ด้านทิศตะวันตก

         หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์ ตั้งอยู่ที่ บ้านนาเวียง หมู่ที่ 1 ตำบลนาเวียง อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร    ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของบ้านนาเวียงหรือเดิมคือบ้านสระเวียง อายุประมาณ 200 ปี ตามประวัติกล่าวถึงการสร้างวัดไว้ว่า วัดแห่งนี้ตั้งขึ้นโดยท่านเจ้าชาซึ่งเป็นพระเถระพร้อมด้วยประชาชนส่วนหนึ่งที่อพยพมาจากฝั่งลาวเพื่อหลบหนีพระเจ้าพิมพิสารมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านหินโหงมประมาณ 2 เดือนเศษ จากนั้นท่านเจ้าชาและชาวบ้านจึงอพยพไปอยู่หนองบัวลุ่มภูเป็นระยะเวลา 2 ปีเศษ จนกระทั่งพระวอพระตาอพยพมาอยู่ด้วย      เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทราบข่าวจึงได้ส่งกำลังคนติดตามมา ทำให้ท่านเจ้าชาต้องอพยพมาอยู่ที่บ้านคำแคแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านสระเวียง” และ “นาเวียง” จนถึงปัจจุบัน ท่านเจ้าชาได้สร้างวัดขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้านพร้อมทั้งขุดสระน้ำขึ้นเพื่อสร้างหอไตรเก็บพระคัมภีร์ หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์ได้รับการบูรณะต่อมาเรื่อยๆ และใน พ.ศ. 2540 กรมศิลปากร โดยสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 ได้รับงบประมาณมาเพื่อใช้ในการบูรณะหอไตร


หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

          หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์เป็นหอไตรกลางน้ำ มีลักษณะคล้ายกับสถาปัตยกรรมพม่าหรือไทยใหญ่     ตัวอาคารก่อสร้างด้วยไม้ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ขนาดกว้าง 8.30 เมตร ยาว 10.50 เมตร หลังคามุงด้วยแป้นเกล็ดไม้ซ้อนลดหลั่นกัน 4 ชั้น มีชายคายื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน บานประตูแกะสลักลวดลายสวยงาม         มีกระจกประดับบัวเชิงชาย ช่อฟ้า หางหงส์ มีลวดลายกนกซ้อนกัน 4 ชั้น ภายในหอไตร ตรงกลางทำเป็นห้องทึบ ขนาดกว้าง 3.50 เมตร ยาว 5.00 เมตร เป็นที่เก็บพระไตรปิฎก และมีทางเดินโดยรอบ


โครงสร้างหลังคา หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์ ด้านทิศตะวันออก


สภาพพื้นและผนัง หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์ ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้


สภาพภายในห้องเก็บพระไตรปิฎก หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์

         กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนหอไตรวัดสระไตรนุรักษ์เป็นโบราณสถานของชาติและกำหนดขอบเขตโบราณสถาน เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 5 ตารางวา ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 107 ตอนที่ 113 ลงวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2533

 

         วัดมหาธาตุตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองยโสธร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร   วัดมหาธาตุเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี โดยมีประวัติความเป็นมาตามที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) อดีตสังฆนายกได้เรียบเรียงไว้ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 70 เมื่อ พ.ศ. 2440 กล่าวว่า เมื่อครั้งที่พระวออพยพหนีภัยสงครามจากเมืองหนองบัวลุ่มภู มาถึงบริเวณที่เรียกว่า “ดงผีสิง” เห็นว่าเป็นชัยภูมิที่ดีจึงได้พักอยู่ระยะเวลาหนึ่ง แล้วแยกย้ายกันไปตั้งบ้านเรือน ซึ่งท้าวหน้า ท้าวคำสิงห์ และท้าวคำผุ ตั้งอยู่บ้านสิงห์ท่า และพร้อมใจกันตั้งวัดขึ้นเพื่อเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง เรียกว่า วัดทุ่งสว่าง ต่อมาเมื่อท้าวหน้าได้รับความดีความชอบเป็น เจ้าพระวิชัยราชขัตติยะวงศา ครองนครจำปาศักดิ์ จึงได้พากันสร้างพระเจดีย์ใหญ่ เรียกว่าพระมหาธาตุ วัดทุ่งสว่างจึงได้ชื่อว่า วัดมหาธาตุ ตั้งแต่นั้นมา

          ภายในวัดมีพระพุทธรูปที่สำคัญประดิษฐานอยู่ ได้แก่ พระพุทธบุษยรัตน์ (พระแก้วสีน้ำค้าง) หน้าตักกว้าง 27 เซนติเมตร สูง 7 เซนติเมตร เป็นสมบัติของพระยาวิชัยราชขัตติยะวงศา ที่ได้มาจากบรรพบุรุษเมื่อครั้งอยู่ที่เวียงจันทน์


พระแก้วสีน้ำค้าง

          หอไตร จากประวัติทราบว่าสร้างขึ้นในสมัยพระสุนทรราชวงศา (ฝ่าย) ประมาณ พ.ศ. 2373 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นหอไตรที่สร้างขึ้นกลางสระน้ำ หันหน้าไปทางทิศใต้ มีแผนผังรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา     หางหงส์ หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ภายในมีห้องเก็บพระไตรปิฎก ผนังห้องด้านนอกตกแต่งด้วยลายรดน้ำ มีประตูและบันไดทางขึ้นอยู่ด้านทิศใต้ ซุ้มประตูห้องเก็บพระไตรปิฎกตกแต่งด้วยไม้แกะสลัก ด้านข้างบันไดเป็นภาพจิตรกรรมทั้ง 2 ข้าง ผนังห้องด้านข้างและด้านหลังเว้นช่องหน้าต่างข้างละ 1 ช่อง หน้าต่างตกแต่งด้วยลายรดน้ำและไม้แกะสลัก ภายในห้องฝ้าเพดานตกแต่งด้วยลายรดน้ำ รวมทั้งเสาและเครื่องไม้อื่นๆ ด้วยเช่นกัน


หอไตร

          วัดมหาธาตุได้รับการบูรณะด้วยกัน 2 ครั้ง คือ เมื่อ พ.ศ. 2490 คณะกรรมการอำเภอยโสธรและคณะกรรมการวัด ได้ซ่อมแซมบูรณะวัดมหาธาตุโดยก่อกำแพงแก้วรอบบริเวณพระมหาธาตุ เมื่อ พ.ศ. 2508 ได้มีการบูรณะซ่อมแซมหอไตร และใน พ.ศ. 2551 กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานีได้ดำเนินการซ่อมแซมหอไตรวัดมหาธาตุอีกครั้ง

          กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนหอไตรวัดมหาธาตุเป็นโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 65 ตอนที่ 43 หน้า 2220 – 2221 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 และประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 104 หน้าที่ 2026 ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2524 โดยกำหนดเนื้อที่ โบราณสถาน 2 ไร่ 1 งาน 44 ตารางวา

         วัดมหาธาตุ

         ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองยโสธร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร