ปราสาทสด๊กก๊อกธม ตั้งอยู่ที่บ้านหนองหญ้าแก้ว หมู่ที่ ๙ ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว อยู่ห่างจากชายแดนของประเทศไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา ระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร ปัจจุบันเป็นโบราณสถานในวัฒนธรรมเขมรโบราณที่แผนผังและพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดสระแก้ว


   

          ชื่อเรียกปราสาทแห่งนี้เปลี่ยนแปลงชื่อไปตามสภาพแวดล้อมทางกายภาพของลำดับเวลา  กล่าวคือ ในพุทธศักราช ๒๔๖๓ เรียกว่า “ปราสาทเมืองพร้าว” ต่อมาพุทธศักราช ๒๔๗๘ เรียกว่า“ปราสาทสล๊อกก๊อกธม” ปัจจุบันเรียกว่า “ปราสาทสด๊กก๊อกธม”

          คำว่า“สด๊กก๊อกธม”เป็นภาษาเขมร คำว่า“สด๊ก”มาจากคำว่า“สด๊อก”แปลว่า รก ทึบ คำว่า“ก๊อก”แปลว่า ต้นกก และคำว่า “ธม” แปลว่า ใหญ่ ดังนั้น“สด๊กก๊อกธม”จึงแปลว่า รกไปด้วยต้นกกขนาดใหญ่

     ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์

          ศาสนสถานแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๑๕๙๕ ตามพระบัญชาของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ กษัตริย์เขมร โดยมีพระประสงค์เพื่อประทานแด่ “ศรีชเยนทรวรมัน” นามเดิมว่า “สทาศิวะ” พระราชครูที่ลาสิกขาจากสมณเพศ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระชามาดาของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (พระราชบิดาของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ ) และเป็นผู้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกถวายพระองค์

          ปราสาทสด๊กก๊อกธมสร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย ตามคติความเชื่อเรื่องเทวราชจารึกปราสาทสด๊กก๊อกธม ๒ กล่าวถึง การสถาปนาศิวลึงค์ ๒ องค์  ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระศิวะหรือพระอิศวรเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ฮินดู จากการดำเนินงานโบราณคดีบริเวณปราสาทประธานพบชิ้นส่วนฐานโยนีที่ประดิษฐานศิวลึงค์ และร่องรอยของท่อโสมสูตรต่อออกมาภายนอกปราสาท สอดคล้องกับจารึกที่กล่าวถึง การสถาปนาศิวลึงค์ ณ ปราสาทแห่งนี้

    หลักฐานสำคัญ/จารึกสด๊กก๊อกธม ๒

         พบราวพุทธศักราช ๒๔๕๔ โดยนายลูเนต์ เดอ ลายองกิแยร์ (Lunet de Lajonquière) บริเวณมุม ปราสาทประธานด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาพุทธศักราช ๒๔๖๓ ร้อยตำรวจเอกหลวงชาญนิคม พบที่  ด้านทิศเหนือของปราสาทประธาน แม้ว่าตำแหน่งที่พบจะคลาดเคลื่อนกัน แต่ข้อมูลดังกล่าวได้แสดงการพบจารึกหลักนี้ที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม   

 

         จารึกสด๊กก๊อกธม ๒ ทำด้วยหินชนวนเป็นรูปสี่เหลี่ยมทั้ง ๔ ด้าน จารึกอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและภาษาเขมร ด้านที่ ๑ มี ๖๐ บรรทัด ด้านที่ ๒ มี ๗๗ บรรทัด ด้านที่ ๓ มี ๘๔ บรรทัด  และด้านที่ ๔ มี ๑๑๙ บรรทัด สร้างขึ้นในพุทธศักราช ๑๕๙๕ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ ในวโรกาสที่พระองค์ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานแห่งภัทรปัตนะซึ่งเคยถูกทำลายลงในช่วงสงคราม กลางเมืองสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ตามคำกราบบังคมทูลขอของพราหมณ์สทาศิวะ หรือชเยนทรวรมัน  โดยพระองค์ทรงสถาปนาศาสนสถานแห่งนี้ นามใหม่ว่า ภัทรนิเกตน (ที่อยู่อาศัยที่ดี) แด่พราหมณ์สทาศิวะ  ซึ่งเป็นพระราชครู พร้อมทั้งได้สถาปนาศิวลึงค์ อีกทั้งกัลปนาข้าทาสประจำศาสนาสถาน

       เนื้อหาในจารึกมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากได้บันทึกเรื่องราวประวัติตระกูลพราหมณ์ และรายพระนามกษัตริย์เขมรโบราณ ตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ พุทธศักราช ๑๓๔๕ ถึงรัชกาลพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ (ครองราชย์ ๑๕๙๓ - ๑๖๐๙ ) พุทธศักราช ๑๕๙๕ รวมเวลา ๒๕๐ ปี ได้แสดงถึงสภาพสังคมวัฒนธรรม พิธีกรรม และการนับถือศาสนาในช่วงเวลานั้น จึงเป็นหลักฐานชั้นต้นที่มีคุณค่ายอดเยี่ยม ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเขมรโบราณ

      แผนผัง   

            แผนผังปราสาทสด๊กก๊อกธม ประกอบด้วย ปราสาทประธานเป็นจุดศูนย์กลาง หันหน้าด้านทิศตะวันออก ล้อมรอบด้วยระเบียงคด และกำแพงแก้ว ด้านหน้ามีทางดำเนินทอดยาวเป็นแกนเชื่อมระหว่างบริเวณปราสาทกับบาราย ลักษณะดังกล่าวน่าจะเริ่มขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เช่น แผนผังปราสาทพระโค ราชอาณาจักรกัมพูชา

 

แผนผังและภาพมุมสูงปราสาทสด๊กก๊อกธม

         แผนผังแบบนี้ได้รับความนิยมมากในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ โดยพบทั้งในราชอาณาจักรกัมพูชา และประเทศไทย  เช่น ปราสาทเขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ และปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น

    ลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรม

         ปราสาทสด๊กก๊อกธม มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเขมร ประกอบด้วยอาคารสำคัญ คือ ปราสาทประธาน บรรณาลัย ๒ หลัง ล้อมรอบด้วยระเบียงคดและกำแพงแก้ว อาคารทั้งหมดก่อสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง       ซึ่งตกแต่งพื้นผิวในพื้นที่สำคัญด้วยการแกะสลักลวดลายลงบนเนื้อหินเป็นภาพเล่าเรื่องราวในศาสนาพราหมณ์ฮินดูและพฤกษานานาพันธุ์ เทียบเคียงได้กับศิลปกรรมในวัฒนธรรมเขมรโบราณ แบบคลังผสมกับบาปวน กำหนดอายุได้ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ 

ภาพลายเส้นหน้าบันรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์และทับหลังรูปบุคคล

หน้าบันสลักภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์

ทับหลังสลักภาพบุคคลประทับนั่งในท่ามหาราชลีลา  กึ่งกลางท่อนพวงมาลัย

     ประวัติการอนุรักษ์/ปกป้อง/คุ้มครอง

          กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทสด๊กก๊อกธมครั้งแรก พุทธศักราช ๒๔๗๘  และกำหนดเขตพื้นที่โบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔ ตอนพิเศษ ๘๑ ง วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๐ รวมพื้นที่โบราณสถาน ๖๔๑ ไร่ ๒ งาน ๘๒ ตารางวา

          พุทธศักราช ๒๕๓๖ กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ได้สำรวจรายละเอียด  ของโบราณสถาน ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๓๙ - ๒๕๕๓ ดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาปราสาทสด๊กก๊อกธม  ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๓๙ - ๒๕๕๓ ดำเนินงานโบราณคดีและบูรณะปราสาทด้วยวิธีอนัสติโลซิส (Anastylosis) แล้วเสร็จ โดยในปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ ได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถาน

          วัดราสิยารามตั้งอยู่ที่บ้านไก่คำ ตำบลไก่คำ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ  เป็นชุมชนที่ประชาชนย้ายถิ่นฐานมาจากเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์

          อุโบสถวัดราสิยาราม เป็นอุโบสถ (สิม) ขนาดเล็ก จากคำบอกเล่าว่า นายลา ได้บริจาคที่ดิน จำนวน 12 ไร่ เพื่อสร้างเป็นสถานที่สร้างวัด ต่อมานายลาและนายลิน ซึ่งเป็นพี่น้องกันได้อุปสมบทประจำอยู่ที่วัด จึงได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดราสิยาราม” และมีการจารึกไว้ว่า เจ้าคณะแขวง และอุปัชฌาพันเป็นผู้ชี้แจง ผู้เป็นหัวหน้าคือ ยาครูแดง ยาครูไตร  พระสงฆ์และสามเณร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และราษฎรพร้อมใจกันสร้างปฏิสังขรขึ้น สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2468 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2471

          อุโบสถ (สิม) เป็นอาคารขนาดเล็กก่อด้วยอิฐถือปูน ที่ผนังกำแพงมีเสาไม้ด้านละ 4 ต้น รองรับส่วนหลังคา ที่ขื่อห้องแรกสลักลายรูปพญานาคเกี้ยวพันกัน ห้องที่สองสลักลายเถาวัลย์พันกัน ผนังภายในฉาบปูนเรียบ ภายในมีพระพุทธรูป 3 องค์ องค์กลางเป็นพระประธาน ผนังด้านหน้าภายนอกเขียนภาพจิตรกรรมระดับเหนือประตู 4 เรื่อง บนสุดเขียนเป็นภาพพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี ด้านล่างเขียนภาพพระพุทธเจ้าตอนมารผจญ ด้านล่างทางซ้ายมือเขียนภาพเรื่องพระมาลัยโปรดสัตว์นรก ขวามือเขียนเรื่องพระเวสสันดรชาดก อาคารอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ หลังคามุงด้วยสังกะสี เชิงชายมีร่องรอยของการแกะสลักเป็นลายหยักโค้ง คงได้รับการบูรณะมานานอุโบสถจึงไม่มีคันทวย จั่วมีลายประดับแถวบนแบ่งเป็น 3 ช่อง ประดับลายรูปพระอาทิตย์อัศดงคต 3 ดวง แถวกลางและแถวล่างสลักลายเส้นพื้นลายลูกฟักปลายแหลม ครีบใต้จั่วไปลายฉลุไม้โค้งลงไปจรดปลายเสา

         วัดราสิยาราม
         ตั้งอยู่ที่บ้านไก่คำ ตำบลไก่คำ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ