ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

ประวัติ

hp09 003

 

          อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่ในเขตตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ห่างจากกรุงเทพมหานคร ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๕๗๐ กิโลเมตร ภูพระบาทเป็นชื่อภูเขาอยู่ในทิวเขาภูพาน ซึ่งทอดยาวอยู่ทางด้านทิศตะวันตก
          เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๔ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานบริเวณภูพระบาท ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขือน้ำ” โดยขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าจากกรมป่าไม้จำนวน ๓,๔๓๐ ไร่ และได้ดำเนินการพัฒนาให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๒ เป็นต้นมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕

 

hp09 006  hp09 008

 

          สภาพภูมิประเทศของภูพระบาทมีลักษณะเป็นโขดหินและเพิงผาที่กระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก เกิดจากการผุพังสลายตัวของหินทราย ซึ่งมีเนื้อหินที่แข็งแกร่งแตกต่างกัน ระหว่างชั้นของหินที่เป็นทรายแท้ๆ ซึ่งมีความแข็งแกร่งมาก กับชั้นที่เป็นทรายปนปูนซึ่งมีความแข็งแกร่งน้อยกว่า นานๆ ไปจึงเกิดเป็นโขดหิน และเพิงผารูปร่างแปลกๆ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
          ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว วิถีชีวิตของผู้คน ในสมัยนั้นดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่า และล่าสัตว์เป็นอาหาร เมื่อขึ้นมาพักค้างแรม อยู่บนโขดหินและเพิงผาธรรมชาติเหล่านี้ก็ได้ใช้เวลาว่างขีดเขียนภาพต่างๆ เช่น ภาพคน ภาพสัตว์ ภาพฝ่ามือ ตลอดจนภาพลายเส้นสัญลักษณ์ต่างๆไว้บนผนังเพิงผาที่ใช้พักอาศัย ซึ่งปรากฏอยู่ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นจำนวนมาก เช่น ที่ถ้ำวัว - ถ้ำคน และภาพเขียนสีโนนสาวเอ้ ซึ่งภาพเขียนสีบนผนังหินเหล่านี้ยังคงเป็นปริศนาให้ผู้คนในชั้นหลังค้นหาความหมายที่แท้จริงต่อไป นอกจากนี้ ยังได้พบหลักฐานทางวัฒนธรรมสมัยทวารวดีในพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖ อยู่ด้วย อาทิ การดัดแปลงโขดหินให้เป็นศาสนสถาน โดยมีคติการปักใบเสมาหินขนาดใหญ่ล้อมรอบเอาไว้ และลักษณะของพระพุทธปฏิมาบางองค์ที่ถ้ำพระ ก็แสดงถึงอิทธิพลศิลปกรรมสมัยทวารวดีอย่างเด่นชัด ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๘ อิทธิพลของศิลปกรรมแบบเขมรได้เข้ามามีบทบาทในบริเวณนี้ด้วย เนื่องจากได้พบการสกัดหินเพื่อดัดแปลงพระพุทธรูปที่บริเวณถ้ำพระให้เป็นรูปพระโพธิสัตว์ หรือเทวรูปในศาสนาฮินดู โดยได้สลักส่วนของผ้านุ่งด้วยลวดลายที่งดงามยิ่ง

 

hp09 001
         ครั้นถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓ พื้นที่แถบอีสานตอนบนเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะที่อยู่ติดกับลำน้ำโขง ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมลาวหรือล้านช้าง จากการศึกษาพบว่า มีร่องรอยของงานศิลปกรรมสกุลช่างลาวอยู่บนภูพระบาท ดังเห็นได้จากพระพุทธรูปขนาดเล็กบริเวณถ้ำพระเสี่ยง แสดงถึงศิลปะสกุลช่างลาว ส่วนสถาปัตยกรรมในสมัยนี้ได้แก่ เจดีย์ร้าง (อุปโมงค์) ที่สันนิษฐานว่า เดิมอาจใช้สำหรับประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์อุรังคธาตุ

 

hp09 004
         นอกจากภูพระบาทจะมีความสัมพันธ์กับคัมภีร์อุรังคธาตุแล้ว ผู้คนในท้องถิ่นยังได้นำเอาตำนานพื้นบ้าน หรือนิทานพื้นเมืองเรื่อง “อุสา - บารส” มาตั้งชื่อ และเล่าถึงสถานที่ต่างๆ บนภูพระบาทอย่างน่าสนใจด้วยเหตุนี้จึงพบว่า โบราณสถานต่างๆ บนภูพระบาทล้วนมีชื่อเรียกตามจินตนาการจากนิทานเรื่อง “อุสา - บารส” เป็นส่วนใหญ่ อาทิ หอนางอุสา กู่นางอุสา บ่อน้ำนางอุสา วัดลูกเขย วัดพ่อตา คอกม้าท้าวบารส

 

hp09 005
          อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทมีลักษณะที่แตกต่างจากอุทยานประวัติศาสตร์แห่งอื่นๆ ของกรมศิลปากรที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะนอกจากจะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์โบราณคดีแล้ว ยังมีความสำคัญทางด้านนิเวศวิทยา เนื่องจากเป็นที่ตั้งของวนอุทยานภูพระบาทบัวบก ของกรมป่าไม้ ซึ่งมีพืชพรรณทั้งไม้ดอกและไม้ใบขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก

 

hp09 007

 

         ภายในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ได้มีการสำรวจพบโบราณสถานแล้ว ๖๘ แห่ง แบ่งเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ๔๕ แห่ง และสิ่งก่อสร้างที่ดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติให้เป็นศาสนสถาน ๒๓ แห่ง โบราณสถานทั้งหมดตั้งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ในที่นี้จะนำเสนอเฉพาะโบราณสถานที่น่าสนใจ และสามารถเข้าชมได้สะดวก ดังต่อไปนี้ 

๑)  หอนางอุสา
     “หอนางอุสา” ถือเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีลักษณะเป็นโขดหินคล้ายรูปเห็ดอยู่บนลาน เดิมเกิดจากการกระทำตามธรรมชาติ ต่อมาคนได้ดัดแปลงโดยการก่อหินล้อมเป็นห้องขนาดเล็กเอาไว้ที่เพิงหินด้านบน มีใบเสมาหินขนาดกลางและขนาดใหญ่ปักล้อมรอบโขดหิน แสดงว่า บริเวณนี้เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ครั้งอดีตกาลแล้ว
๒) ถ้ำพระ
     “ถ้ำพระ” เดิมคงเป็นเพิงหินขนาดใหญ่ ที่เกิดจากก้อนหินขนาดใหญ่วางทับซ้อนกันตามธรรมชาติ ต่อมา คนได้สกัดหินก้อนล่าง ออกจนกลายเป็นห้องขนาดใหญ่ รวมไปถึงสลักรูปพระพุทธปฏิมาเอาไว้ในห้องอีกด้วย นอกจากนี้ ยังพบร่องรอยของหลุมเสาด้านนอกเพิงหินเรียงอยู่เป็นแนวในกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จึงสันนิษฐานว่า เดิมอาจมีการต่อหลังคาเครื่องไม้ออกมาด้านนอก ทำ ให้หลังคาเพิงหินก้อนบนทรุดตัวพังทลาย และส่วนหนึ่งได้ล้มทับพระพุทธปฏิมาจนชำรุดเสียหายไปด้วย
๓) ถ้ำวัว - ถ้ำคน
     มีลักษณะเป็นเพิงหินขนาดใหญ่วางทับซ้อนกัน ทำให้เกิดเป็นชะง่อนหิน ที่สามารถใช้หลบแดดหลบฝนอยู่ทางด้านล่างของเพิง ส่วนทางด้านทิศตะวันออกของเพิงหิน พบภาพเขียนรูปสัตว์และรูปคน จึงเรียกว่า “ถ้ำวัว - ถ้ำคน”
๔) แหล่งภาพเขียนสีโนนสาวเอ้
     แหล่งภาพเขียนสีโนนสาวเอ้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดพระพุทธบาทบัวบก บริเวณนี้พบแหล่งภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์บนผนังเพิงหินอยู่ ๒ จุด จุดแรกได้แก่ “โนนสาวเอ้ ๑” ซึ่งเป็นโขดหินขนาดใหญ่อยู่กลางลานหิน ภาพเขียนสีบนผนังเขียนด้วยสีแดงคล้ำ เป็นลายเส้นรูปต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีลายเส้นเขียนด้วยสีขาว เป็นภาพช้าง หงส์ และม้า ซึ่งจากฝีมือที่ปรากฏสันนิษฐานว่า เป็นงานที่เขียนขึ้นในสมัยหลัง ถัดจากโนนสาวเอ้ ๑ ออกไปประมาณ ๕ เมตร เป็นที่ตั้งของแหล่งภาพเขียนสี “โนนสาวเอ้ ๒” ซึ่งปรากฏภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์เช่นกัน บนผนังเพิงหินด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ ภาพเขียนสีที่พบได้แก่ ภาพลายเส้นคู่ขนานต่อกันเป็นรูปหลายเหลี่ยม ภาพวงกลมคล้ายลายก้านขด ภาพลายเส้นคล้ายสัตว์ที่มี ๔ ขา

        อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นแหล่งรวบรวมสิ่งสำคัญ ทั้งทางด้านศิลปวัฒนธรรม และทางด้านธรรมชาติเข้าด้วยกัน มานานนับเป็นพันปี จึงเป็นมรดกสำคัญที่ ชนชาวไทยควรจะต้องช่วยกันรักษาให้คงไว้ตลอดไป.