ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

วัดชุมพลนิกายาราม


 

 

          วัดชุมพลนิกายาราม*  เป็นอารามหลวงชั้นโท  ตั้งอยู่ที่หัวเกาะบางปะอิน  ตำบลบางเลน  อำเภอบางปะอิน  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เป็นอารามที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  และใกล้กับพระราชวังบางปะอิน         

          วัดชุมพลนิกายารามนี้  สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง  แห่งกรุงศรีอยุธยาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๓  ภายในอาณาบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งพระราชเคหสถานเดิมของพระราชมารดาของพระองค์  และสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเองได้ทรงพระราชสมภพที่นี่  อาณาเขตของวัดนี้  ทางทิศเหนือกว้าง ๑ เส้น  ด้านทิศใต้กว้าง ๔ เส้น  ยาว ๔ เส้น  ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ  วัดชุมพลนิกายาราม  ได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งหนึ่ง  โดยสมเด็จพระเจ้าราชวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทราพิทักษ์  ระหว่างทีทรงผนวชอยู่ที่วัดโคกแสง  จากนั้นวัดชุมพลนิกายารามก็มิได้รับการปฏิสังขรณ์อีก  เข้าใจว่าเนื่องด้วยบ้านเมืองมีภัยสงครามทั้งจากการแย่งชิงราชสมบัติ  และจากพม่า ข้าศึกจากภายนอกที่เข้ามารุกราน

          ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงทำผาติกรรมไถ่ถอนพระนารายณ์ราชนิเวศน์  ที่ลพบุรี  ซึ่งครั้งนั้นเป็นที่ธรณีสงฆ์  เพื่อจะทรงฟื้นฟูให้เป็นพระราชวังเดิม  ดังนั้น  จึงทรงซื้อที่นา ๔๐ ไร่ ๒ งาน  ถวายเป็นที่ธรณีสงฆ์  ทรงทะนุบำรุงแทนเท่าเนื้อที่ของพระนารายณ์ราชนิเวศน์  นั่นคือเนื้อที่ของพระอาราม ๓ แห่ง คือ วัดชุมพลนิกายาราม  ที่บางปะอินวัดเสนาสนาราม  ที่อยุธยา  และวัดกวิศราราม  ที่ลพบุรี

          สำหรับวัดชุมพลนิกายารามใน พ.ศ. ๒๔๕๑  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงปฏิสังขรณ์โดยโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาเขียนภาพผนังด้านในใหม่  พื้นภายในเดิมปูด้วยกระเบื้องหน้าวัวเปลี่ยนเป็นปูด้วยหินอ่อน 

          ภายในวัดชุมพลนิกายาราม  มีอาคารศาสนาสถานที่น่าสนใจ  คือ  พระอุโบสถ  พระวิหาร  และพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง  ซึ่งยังแสดงรูปแบบศิลปกรรมสมัยอยุธยา  รัชกาลพระเจ้าปราสาททองอย่างเด่นชัด  แม้ว่าจะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์  และมีลักษณะรูปแบบศิลปรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ ๔  และรัชกาลที่ ๕  ผสมผสานอยู่ด้วยก็ตาม

          พระอุโบสถ       

          พระอุโบสถซึ่งอยู่ภายในกำแพงแก้ว ๒ ชั้น  เป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบทรงโรง  หลังคาลาดลดหลั่น ๓ ชั้น  ด้านหน้าและด้านหลังของพระอุโบสถสร้างเป็นมุขเด็จยื่นออกมา  ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปอดีตพระพุทธเจ้า ๖ พระองค์  และพระพุทธเจ้าสมณโคดม ๑ องค์รวม  ๗ องค์  ติดอยู่ที่ผนังพระอุโบสถ คือ

๑.  พระพุทธเจ้าวิปัสสี                 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
๒. พระพุทธเจ้าสิฐี                      เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ
๓. พระพุทธเจ้าเวสสภู                 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
๔. พระพุทธเจ้ากกุสันโธ              เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ
๕. พระพุทธเจ้าโกนาคมน์            เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ
๖.  พระพุทธเจ้ากัสสป                 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
๗. พระพุทธเจ้าสมณโคดม           เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย

          ลักษณะของพระพุทธรูปประธาน  มีพระพักตร์รูปสี่เหลี่ยมพระวรกายตั้งตรง  นิ้วพระพักตร์เสมอกัน  และพระเพลาที่ผายกว้างแสดงให้เห็นว่าเป็นอิทธิพลของศิลปะอู่ทอง  จึงอาจมีข้อสันนิษฐานว่า  วัดชุมพลนิกายารามนี้อาจจะเป็นวัดโบราณร้างมาก่อน  และได้ร้บการบูรณะครั้งใหญ่เกือบจะเป็นการสร้างใหม่ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง  และต่อมาเมื่อได้รับการบูรณะใหม่อีกครั้งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๔  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ได้มีการเขียนรูปพระมหาพิชัยมงกุฎอยู่เหนือเศียรพระพุทธรูป  พระประธานพร้อมกับการสร้างพระอุโบสถอดีตพระพุทธเจ้า

          โดยรอบฝาผนังภายในพระอุโบสถทั้งสี่ด้าน  ประดับด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง  เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔  เป็นภาพเล่าเรื่องพระพุทธประวัติอดีตพระพุทธเจ้า  และพระสมณโคดมในกัลป์ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธรูปประธานทั้ง ๗ พระองค์ อย่างไรก็ดี  ภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง ๔ ด้าน  ส่วนใหญ่ลบเลือน มีเพียงด้านหน้าพระประธานที่ยังเหลืออยู่ในสภาพที่ดี  เพดานพระอุโบสถเขียนลายพวงอุบะและพู่กลิ่นที่แขวนประดับตามพระตำหนัก  ส่วนบนบานประตูหน้าต่างภายในเขียนลายแท่นบูชาแบบกระบวนจีน

          ภายนอกพระอุโบสถยังมีรูปแบบฐานโค้งสำเภา  มีมุขยื่นทั้งสองด้าน  อันเป็นรูปแบบอาคารสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาอย่างเด่นชัด  ที่หน้าบันประดับด้วยลายพระมหาพิชัยมงกุฎ  อันเป็นพระราชลัญจกรประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และลวดลายภาพชุมนุมพลเพื่อการตั้งทัพ  หน้าบันเหนือขึ้นไปสลักภาพทัพทั้งสี่เหล่า  ตรงด้านหลังบานประตูหน้าต่างเขียนภาพเครื่องบูชาแบบจีน  โดยมีซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มทรงปราสาทยอดปรางค์  มีมุขหน้าและมุขหลังของตัวพระอุโบสถประดิษฐานรูปพระศรีอาริยเมตไตรยภายในซุ้มจระนำ

          พระเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง

          พระเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ๒ องค์  ก่อไว้ทางด้านหลังของพระอุโบสถ  โดยรวมแล้วอาจเทียบได้กับพระเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ๒ องค์  ที่วัดไชยวัฒนาราม  อำเภอพระนครศรีอยุธยา  แต่พระเจดีย์ทั้ง ๒ องค์ที่วัดชุมพลนิกายาราม  ได้รับการบูรณะแล้วในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ปัจจุบันจึงอยู่ในสภาพดี  พระเจดีย์ ๒ องค์นี้บรรจุพระบรมธาตุขนาดกลาง ๒ องค์  ขนาดน้อย ๒ องค์  รวม ๔ องค์  ห่อด้วยทองใบหนักไม่ถึง ๑/๔ เฟื้อง  ไว้ในผอบจันทน์แดง  ซึ่งซ้อนอยู่ในผอบจันทน์ขาว  และผอบศิลาตามลำดับ แล้วรวมบรรจุไว้ในมณฑปศิลา คงประดิษฐ์ในคราวบูรณะหลังสุดนั้นเอง
          ยังมีพระเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองอีก ๒ องค์  ก่อที่มุมกำแพงแก้วชั้นนอกด้นหน้าพระอุโบสถ  เป็นศิลปะสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

          วิหาร

          พระวิหารตั้วอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ เป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็ก หลังคาลด ๒ ชั้น  หน้าบันเป็นแบบที่เรียกว่ากระเท่เซร์  มีคอสองโดยรอบซึ่งตกแต่งด้วยลายอุบะ มีหลังคารอบ  หน้าบันตกแต่งด้วยลายปูนปั้นเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ  ประดิษฐานบนพาน ๒ ชั้น  ขนาบด้วยพระเศวตฉัตร  ล้อมรอบด้วยลายเครือเถาก้านขด  ส่วนของช่อฟ้า  และหางหงส์ทำเป็นรูปเศียรนาค  พระวิหารนี้ตั้งอยู่ระหว่างเจดีย์ ๒ องค์  ภายในพระวิหาร  ประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยอยุธยา ๑๑ องค์[๑]

          ใบเสมา

          ใบเสมาทำเป็นรูปหัวเม็ดสี่เหลี่ยมยอดทรงมัณฑ์  ตั้งอยู่ในบริเวณกำแพงชั้นในของพระอุโบสถ  ที่มุมเชิงมีเศียรนาคประดับทั้งสี่มุม  ตรงกลางเป็นลายดอกเบญจมาศ  อันเป็นรูปแบบใบเสมาตามพระราชนิยมแบบหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๔  ใบเสมาตั้งอยู่บนฐานบัวทรงสูง

 

* นางณัฏฐภัทร   จันทวิช   ค้นคว้าเรียบเรียง

พระครูวิชาญธรรมโชติ  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชุมพลนิกายาราม  อธิบายเพิ่มเติมว่า เดิมมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในซุ้มผนัง ๗ องค์  ที่ฐานชุกชี ๔ องค์  ต่อมา  โจรได้ลักลอบตัดเศียรพระพุทธรูปไป ๑ องค์  ทางวัดจึงโยกย้ายพระพุทธรูปที่สมบูรณ์ ๙ องค์  ไปเก็บไว้ที่กุฏิเจ้าอาวาส ๑ องค์  กุฎิผู้ช่วยเจ้าอาวาส ๘ องค์  โดยนำพระที่หล่อใหม่สมัยหลังไปประดิษฐานไว้  และมีการต่อเติมเศียรพระที่หายไปให้สมบูรณ์

 

 

 วิดีทัศน์