ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

วัดหน้าพระเมรุ


 

               ตั้งอยู่ริมคลองสระบัวตรงข้ามพระราชวังโบราณเป็นอารามหลวงสามัญชั้นตรี ตามตำนานกล่าวว่าพระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2047 พระราชทานนามว่า วัดพระเมรุราชิการาม  ต่อมาเรียกกันภายหลังว่า วัดหน้าพระเมรุ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดซึ่งสร้างขึ้นตรงที่ถวายพระเพลิงกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งในต้นสมัยอยุธยาเป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าทำลายและยังคงสภาพดีมาก เพราะหม่าได้ใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการ พระอุโบสถเป็นแบบอยุธยาตอนต้น มีการเจาะช่องแสงแทนการใช้หน้าต่าง แต่น่าจะเพิ่มเสารับชายคาภายหลังในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องหล่อสำริดขนาดใหญ่ที่สุดที่ปรากฏและมีความงดงามมาก เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ด้านหลังยังมีพระอีกองค์หนึ่งขนาดเล็กกว่า คือพระศรีอริยเมตไตรย ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการปฏิสังขรณ์วัดนี้ โดยรักษาแบบอย่างเดิมไว้ และได้เชิญพระพุทธรูปศิลาแบบานั่งห้อยพระบาทสมัยทวาราวดีจากวัดมหาธาตุมาไว้ในพระวิหารน้อยซึ่งอยู่ข้างพระอุโบสถพระพุทธรูปศิลาแบบนั่งห้อยพระบาท

              สถาปัตยกรรมของวัดอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น คือ พระอุโบสถไม่มีหน้าต่าง แต่เจาะช่องไว้เป็นลูกกรง พระประธานเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ทรงเครื่องปางมารวิชัย  หน้าบันไม้สักลงรักปิดทองสลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑยุดเศียรนาค หน้าราหู ล้อมรอบด้วยหมู่เทพพนม 26 องค์ ตรงอาสนสงฆ์มีจารึกเป็นร่ายสุภาพ และกาพย์ยานี วัดหน้าพระเมรุได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 

 วิดีทัศน์