ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

วัดตะไกร


 

          วัดตะไกร*(วัดกะไตร) [๑]  สภาพปัจจุบันเป็นวัดร้าง   ส่วนใครเป็นผู้สร้างวัดนี้นั้นยังไม่พบหลักฐาน โดยทั่วไปแล้วผู้ที่จะสร้างวัดก็มีแต่พระราชาธิบดี  ขุนนางผู้ใหญ่แลคหบดีผู้มีทรัพย์เท่านั้น  ได้ค้นในทำเนียบวัด (พระอารามหลวง)  ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าไม่พบชื่อวัดตะไกร  จึงทำให้คิดว่าน่าจะเป็นเพียงวัดราษฎร์ วัดตะไกรมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ ๒๕ ไร่เศษ  ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองสระบัว  อำเภอพระนครศรีอยุธยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  อยู่ห่างจากฝั่งตะวันตกของคลองสระบัวประมาณ ๑๐๐ เมตร  และห่างจากวัดหน้าพระเมรุไปทางทิศเหนือประมาณ ๓๐๐ เมตรเศษ

          จากหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๓  ตอนว่าด้วยแผนที่กรุงศรีอยุธยา  ฉบับพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาโบราณราชธานินทร์  เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๙  หน้า ๑๖๖ - ๑๖๗  ได้กล่าวถึงตลาดบกนอกกรุงว่า  ที่หน้าวัดตะไกรเป็นตลาดลงท่าน้ำที่หน้าวัดพระเมรุแห่งหนึ่ง  ในจำนวนตลาดนอกกรุงซึ่งมีอยู่ถึง ๒๓ แห่ง  ประกอบกับหลักฐานทางด้านวรรณคดีเรื่อง  เสภาขุนช้างขุนแผน”  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย  ได้ทรงสันนิษฐานโดยอาศัยพงศาวดารและคำให้การชาวกรุงเก่าไว้ว่า  มีเค้ามาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ คือ ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๔  ถึง  พ.ศ. ๒๐๗๒  ได้กล่าวถึงความสำคัญของวัดตะไกรไว้ดังนี้

          “ครานั้นสายทองผู้เป็นพี่       ครั้นฟื้นสมประดีขึ้นมาได้
คิดถึงน้องน้อยละห้อยใจ                น้ำตาไหลหลั่งละลุมลง
จึงอำลาศรีประจันแล้วครรไล           ลงเรือร่ำไห้อาลัยหลง
มาถึงกรุงไกรด้วยใจจง                   ตรงไปบ้านขุนแผนผู้แว่นไว
ครั้นถึงเข้าไปที่ในห้อง                   ถามว่าศพวันทองน้องอยู่ไหน
ขุนแผนบอกว่าฝังวัดตะไกร          แล้วให้คนนำไปโดยฉับพลัน”

          เรื่องราวในบทเสภานี้ได้กล่าวอ้างถึงวัดตะไกรว่า  เป็นที่ฝังและทำฌาปนกิจศพของนางวันทอง  ผู้ต้องคำพิพากษาถึงประหารชีวิต  แล้วนำศพไปฝังยังวัดตะไกร  ดังจะเห็นได้จากบทเสภาดังกล่าวอีกตอนหนึ่งที่ว่า

ครั้นถึงจึงแวะวัดตะไกร        จอดเรือเข้าไว้ที่ตีนท่า”

          อันเป็นตอนที่ขุนช้างได้ทราบข่าวว่า  ได้จัดทำศพนางวันทองที่วัดตระไกร  จึงได้เตรียมผ้าไตรและเครื่องไทยทานไปร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศให้แก่นางวันทอง

          เรื่องพระพันวษา  ขุนแผน  วัดตะไกร  เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงและมีจริง  ขุนแผนได้เป็นแม่ทัพไปทำศึกกับเชียงใหม่และได้ชัยชนะจึงมีชื่อเสียงและเป็นคนสำคัญ เรื่องการทำศึกกับหัวเมืองเชียงใหม่ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒  (พระพันวษา)  นี้พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์  ได้บันทึกไว้ว่า

          “ศักราช  ๘๗๗  กุนศก (พ.ศ ๒๐๕๘)  วัน  ๓ ๑๕ ๑๑  ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๘ ชั้น  ๓ ฤกษ์  ๙ ฤกษ์  สมเด็จพระรามาธิบดีเสด็จยกทัพหลวงไปตีได้เมืองน (คร) ลำ (ภารได้) เมือง”    หลังจากที่สมเด็จพระรามาธิบดีเสด็จยกทัพหลวงไปตีได้เมืองลำปางแล้วพวกเชียงใหม่ก็ไม่ลงมาทำอะไรวุ่นวายอีก  ทีนี้กล่าวถึงเรื่องการประหารชีวิตนางวันทองบ้างว่าเกิดขึ้นเมื่อใด  ข้อนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสันนิษฐานไว้ว่า  นางวันทองต้องโทษประหารก่อน  ส่วนขุนแผนนั้นต้องโทษจำคุกในฐานที่ฆ่าข้าหลวง  ต่อมาเกิดศึกเชียงใหม่  จมื่นศรีฯ  พยายามทูลยกย่องขุนแผน  ขุนแผนจึงพ้นโทษด้วยจะให้ไปทำศึก  ในระยะเวลาที่พูดถึงนี้ ซึ่งวัดตะไกรมีอยู่แล้ว  จึงน่าสันนิษฐานว่าวัดตะไกรนี้ต้องสร้างก่อนปี ๒๐๕๘  อันเป็นปีที่เสร็จศึกเชียงใหม่

            นอกจากนี้ถ้าพิจารณาจากสิ่งก่อสร้าง  อันเป็นหลักของวัดที่ปรากฏอยู่และโบราณวัตถุล้วนเป็นของที่ทำขึ้นในสมัยอยุธยายุคที่ ๒ [๒]  เป็นส่วนใหญ่ คือ  เป็นของที่สร้างในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  ขึ้นมาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. ๒๐๐๖ ถึง พ.ศ. ๒๑๗๐)  กล่าวคือ  เจดีย์หลักของวัดและเจดีย์รายเป็นเจดีย์ที่มีลักษณะและแบบการก่อสร้างเหมือนกันทั้งสิ้น  เป็นเจดีย์ฐานต่ำบัวฐานเป็นแปดเหลี่ยม  องค์ระฆังสูงแบบเจดีย์ลังกา  จัดเป็นเจดีย์ยุคที่ ๒  อันเป็นรูปแบบที่นิยมสร้างกันในสมัยกรุงศรีอยุธยา  สำหรับพระพุทธรูปประธานในวิหารและอุโบสถ  เป็นแบบพระพุทธรูปสมัยอยุธยารุ่นที่ ๒  มีอิทธิพลสุโขทัยเจือปนอยู่มาก เช่น พระพักตร์รูปไข่หรือผลมะะตูม ผ้าสังฆาฏิปลายเขี้ยวตะขาบ  เป็นต้น  จากการสำรวจวัดตะไกรเมื่อวันที่ ๑๘  พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๕๓๔  หาได้ปรากฏร่องรอยของพระพุทธรูปที่กล่าวข้างต้นนี้ไม่

          เหตุผลทั้งสองประการนี้  ทำให้น่าเชื่อได้ว่าวัดตะไกรคงสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๐๐๖ ถึง พ.ศ. ๒๑๗๐ [๓]

          พุทธศักราช ๒๕๔๒  กรมศิลปากร  ได้ดำเนินการขุดแต่งบูรณะและปรับปรุงสภาพแวดล้อมโบราณสถานกลุ่มคลองสระบัว  วัดตะไกรซึ่งเป็นวัดหนึ่งในกลุ่มโบราณสถานดังกล่าวก็ได้รับการขุดแต่งในครั้งนี้ด้วย  สภาพก่อนการขุดแต่งนั้นมีสภาพรกร้างเต็มไปด้วยไม้ยืนต้นและวัชพืชปกคลุมโบราณสถาน  มีเศษอิฐหักและดินทับถมสูง โบราณสถานบางหลังไม่ทราบลักษณะและขอบเขตที่ชัดเจน  ขณะเดียวกันก็มีโบราณสถานจำนวนหนึ่งที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์  ได้แก่  เจดีย์ประธาน  วิหาร  เจดีย์ทรงปรางค์  เจดียราย  อุโบสถ  กำแพงแก้ว  กำแพงวัดและสระน้ำ  เป็นต้น

            ภายหลังการขุดแต่ง  พบว่า วัดตะไกรประกอบด้วยพื้นที่เขตพุทธาวาสและสังฆาวาส  สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น  และเป็นวัดสืบเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย  ทิ้งร้างไปชั่วระยะหนึ่ง ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒  และมีผู้คนมาใช้พื้นที่อีกในช่วงรัตนโกสินทร์ ประมาณรัชกาลที่ ๔ - ๕ เรื่อยมา จนถูกทิ้งร้างอีกครั้งหนึ่งเมื่อไม่กี่สิบปีมานี่เอง  ทำให้พบร่องรอยของการบูรณะและก่อสร้างเพิ่มเติมในภายหลัง  นักโบราณคดีแบ่งการสร้างวัดตระไกรเป็น ๓ สมัย  ได้แก่  สมัยที่ ๑  ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑  สมัยที่ ๒  ราวพุทธศตวรรษที่  ๒๒  และสมัยที่ ๓ พุทธศตวรรษที่   ๒๓ - ๒๔

          โบราณสถานที่สำคัญ

          ๑.  เจดีย์ประธาน  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของกลุ่มโบราณสถาน  เป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมตั้งบนฐานเขียงสี่เหลี่ยม  เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๗.๔ เมตร  ความสูงปัจจุบันประมาณ ๑๗ เมตร  ก่ออิฐสอปูน  แต่แกนเจดีย์ไม่สอปูน  จากการขุดแต่งพบว่าเจดีย์ประธานมีการสร้าง ๒ สมัย  องค์ที่เห็นปัจจุบันเป็นเจดีย์สมัยที่ ๒  ซึ่งสร้างพอกทับฐานเขียงแปดเหลี่ยมด้วยฐานเขียงสี่เหลี่ยม  ฐานนี้เชื่อมเจดีย์ประธานกับวิหารเข้าด้วยกัน  และมีการพอกทับฐานบัวลูกฟัก ๒ ฐานล่างให้มีขนาดใหญ่ขึ้น

          ๒.  วิหาร   ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน  วิหารก่ออิฐสอปูน  สภาพพังทลายเหลือเฉพาะส่วนฐานและแนวผนังเล็กน้อย  ขนาดวิหารกว้างประมาณ ๑๒ เมตร  ยาวประมาณ ๒๖ เมตร  มีมุขหน้า – หลัง  มุขหลังสร้างบนฐานเขียงสี่เหลี่ยมที่เชื่อมเจดีย์ประธานกับวิหาร  มีพาไล ๒ ข้าง  ร่องรอยผนังแสดงให้เห็นว่าใช้ช่องแสงแทนช่องหน้าต่าง  ประตูทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันออก ๓ ประตู  ภายในมีเสาแปดเหลี่ยม  มีฐานชุกชีติดผนังด้านทิศตะวันตก  จากการขุดแต่งพบแนวอิฐมีทั้งหมด ๓ สมัย สมัยแรกเมื่อแรกสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑  อยู่ล่างสุด  ต่อมาคงรื้อและสร้างใหม่บริเวณที่เดิม  น่าจะราวสมัยอยุธยาตอนกลาง  เนื่องจากการทำช่องแสงที่ผนัง  และการทำพาไลด้านข้างเพื่อรองรับชายคาปีกนก  ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนต้น – อยุธยาตอนกลาง  วิหารนี้ได้รับการบูรณะซ่อมแซมในสมัยต่อมา  เนื่องจากพบหลักฐานว่ามีการสร้างมุขหลังบนฐานไพที  และปรับเปลี่ยนฐานชุกชีใหม่

          ๓.  กำแพงแก้ว  เป็นกำแพงล้อมรอบเขตพุทธาวาส   สภาพทั่วไปชำรุดหักพังมาก บางช่วงเหลือเพียงส่วนฐาน ขนาดกว้างประมาณ ๓๕ เมตร ยาวประมาณ ๕๘ เมตร ลักษณะกำแพงก่ออิฐขึ้นมาตรงๆ ไม่มีบัวคว่ำที่ด้านล่าง บริเวณส่วนบนจะถากอิฐเป็นอกไก่เพื่อโบกปูนให้เป็นปากแล  ถัดขึ้นไปเป็นบัวหงายหน้ากระดานบนและสันกำแพง  ไม่มีใบเสมาดินเผา หรือโคมไฟประดับ  ที่มุมทั้ง ๔ ประดับด้วยเสาหัวเม็ด เสาหัวเม็ด ๒ ต้นทางด้านหน้าวัดทำย่อมุม ๑๒ มุม ในขณะที่ด้านหลังไม่ย่อมุม  มีซุ้มประตูทางทิศตะวันออกและทิศใต้ ด้านละ ๑ ประตู  สภาพหักพังไม่เหลือส่วนยอดให้เห็น  จากการขุดแต่งพบว่ากำแพงแก้วสร้างในสมัยแรกสร้างวัด

          ๔.  เจดีย์ราย  อยู่ภายในกำแพงแก้วของวิหาร ตั้งเรียงรายเริ่มจากบริเวณด้านทิศใต้ของเจดีย์ประธานและรอบวิหาร ตั้งในระยะใกล้ชิดกันมาก จำนวน ๑๖ องค์  เป็นเจดีย์ก่ออิฐสอปูน  ส่วนใหญ่สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น  และก่อสร้างเพิ่มเติมในสมัยอยุธยาตอนกลางและตอนปลาย  รวมทั้งก่อพอกทับอีกด้วย เจดีย์ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุดหักพังเหลือเพียงฐาน  มีเพียงไม่กี่องค์ที่อยู่ในสภาพค่อนข้างเห็นลักษณะทางศิลปกรรมชัดเจน  ได้แก่   เจดีย์หมายเลข ๗ และหมายเลข ๑๖  รายละเอียดแต่ละองค์ มีดังนี้

          เจดีย์รายหมายเลข ๑   นับจากทางทิศใต้ของเจดีย์ประธาน  เป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓.๒ เมตร  ก่ออิฐสอปูน  สภาพชำรุดหักพังเหลือเพียงฐานบัวลูกแก้วอกไก่ชั้นล่างสุด  พบว่ามีการสร้างทับกัน ๒ สมัย  กล่าวคือสมัยแรกสร้างวัดในสมัยอยุธยาตอนต้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑  และสมัยที่ ๒  น่าจะราวสมัยอยุธยาตอนปลาย  ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓  เนื่องจากเจดีย์แปดเหลี่ยมที่ทำฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ๑ เส้น  รองรับองค์ระฆังซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย

          เจดีย์รายหมายเลข ๒   อยู่ห่างจากเจดีย์รายหมายเลข ๑  มาทางทิศตะวันออกประมาณ ๒๕ เซนติเมตร  ก่ออิฐสอปูน  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓ เมตร  สภาพชำรุดเหลือเพียงฐานเขียงและบางส่วนของฐานบัวลูกฟักชั้นล่างสุด  น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑  และมีการก่อพอกทับในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓  หรือสมัยอยุธยาตอนปลาย

          เจดีย์รายหมายเลข ๓   อยู่ห่างจากเจดีย์รายหมายเลข ๒  มาทางทิศตะวันออกประมาณ ๒๕ เซนติเมตร  ก่ออิฐสอปูน  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒.๗ เมตร  สภาพชำรุดหักพังเหลือเพียงฐานเขียงและบางส่วนของฐานบัวลูกฟัก ๒ เส้น มีร่องรอยการก่อสร้าง ๒ สมัย คือ  สมัยอยุธยาตอนต้น  และก่อพอกทับสมัยอยุธยาตอนปลาย

          เจดีย์รายหมายเลข ๔   อยู่ถัดจากเจดีย์รายหมายเลข ๓  มาทางทิศตะวันออกประมาณ ๓๐ เซนติเมตร  ก่ออิฐสอปูน  สภาพชำรุดเหลือเฉพาะส่วนฐานเขียงและฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ๑ เส้น  มีร่องรอยการก่อสร้าง ๒ สมัย  ได้แก่สมัยอยุธยาตอนต้น และสมัยอยุธยาตอนปลาย

          เจดีย์รายหมายเลข ๕   อยู่ถัดจากเจดีย์รายหมายเลข ๔  มาทางทิศตะวันออกประมาณ ๔๐ เซนติเมตร  เป็นเจดีย์ก่ออิฐสอปูน มีร่องรอยการสร้าง ๒ สมัยเช่นเดียวกัน ได้แก่สมัยอยุธยาตอนต้น และสมัยอยุธยาตอนปลาย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒.๗ เมตร  สภาพชำรุดเหลือเพียงฐานเขียงและฐานบัวลูกฟัก ๒ เส้น  ในผังแปดเหลี่ยม  ปูนฉาบค่อนข้างสมบูรณ์  มีการพอกขยายส่วนฐานเขียงของเจดีย์ออกมาด้วย  ส่วนใหญ่หลุดร่วงเหลือให้เห็นบางส่วน         

          เจดีย์รายหมายเลข ๖   อยู่ถัดจากเจดีย์รายหมายเลข ๕ ประมาณ ๒๕ เซนติเมตร  เป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม ก่ออิฐสอปูน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒.๗ เมตร  สภาพชำรุดเหลือเฉพาะฐานเขียงและฐานบัวชั้นล่างสุด  กำหนดอายุในสมัยอยุธยาตอนต้น  ไม่พบร่อยรอยการก่อพอกทับในสมัยหลัง

          เจดีย์รายหมายเลข ๗   อยู่ถัดมาทางทิศตะวันออกของเจดีย์รายหมายเลข ๖ ประมาณ ๓๐ เซนติเมตร  มีการก่อสร้าง ๒ สมัย ได้แก่สมัยอยุธยาตอนต้น และสมัยอยุธยาตอนปลาย  สภาพค่อนข้างสมบูรณ์กว่าเจดีย์รายองค์อื่นๆ ปูนฉาบค่อนข้างสมบูรณ์

          เจดีย์รายหมายเลข ๘   อยู่ถัดมาจากเจดีย์รายหมายเลข ๗  ทางทิศตะวันออกประมาณ ๓๐ เซนติเมตร  สภาพเจดีย์ชำรุดมากเหลือเพียงฐานเขียงและฐานบัว  ปูนฉาบหลุดร่วงเกือบหมด น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง  และมีการก่อพอกในสมัยอยุธยาตอนปลาย

          เจดีย์รายหมายเลข ๙   อยู่ถัดมาจากเจดีย์รายหมายเลข ๘  ประมาณ ๓๐ เซนติเมตร  สภาพเหลือเฉพาะฐานเขียงและหน้ากระดานล่างและบัวคว่ำของฐานชั้นล่างสุด  ทั้งหมดอยู่ในผังแปดเหลี่ยม องค์เจดีย์ก่อกลวงข้างในเป็นโพรง  แนวอิฐทางด้านทิศใต้ถูกรื้อทำลายเป็นโพรงขนาดใหญ่  น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง

          เจดีย์รายหมายเลข ๑๐   อยู่ห่างจากเจดีย์รายหมายเลข ๙  ประมาณ ๓๐ เซนติเมตร  สภาพเหลือเพียงฐานเขียงและบางส่วนของฐานบัวล่างสุด  ทั้งหมดอยู่ในผังแปดเหลี่ยม  น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนกลางและก่อพอกในสมัยอยุธยาตอนปลาย

          เจดีย์รายหมายเลข ๑๑   ห่างจากเจดีย์รายหมายเลข ๑๐  ประมาณ ๒๕ เซนติเมตร  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒.๘ เมตร  เหลือเพียงฐานเขียงในผังแปดเหลี่ยมชั้นล่างสุด  น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนกลางและก่อพอกในสมัยอยุธยาตอนปลาย

          เจดีย์รายหมายเลข ๑๒   ห่างจากเจดีย์รายหมายเลข ๑๑  ประมาณ  ๓๐ เซนติเมตร  เป็นเจดีย์ทรงกลมบนฐานแปดเหลี่ยม  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒.๘ เมตร  สภาพหักพังเหลือเฉพาะฐานเขียงแปดเหลี่ยม รองรับเจดีย์ทรงกลม น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย พร้อมๆ กับการก่อพอกเจดีย์รายองค์อื่นๆ

          เจดีย์รายหมายเลข ๑๓   เจดีย์นี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวิหาร  ก่ออิฐสอปูน เป็นเจดีย์ทรงกลมบนฐานแปดเหลี่ยม  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕ เมตร  สภาพชำรุดเหลือเฉพาะฐานเขียงแปดเหลี่ยมรองรับองค์เจดีย์  น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายพร้อมๆ กับการก่อพอกเจดีย์รายอื่นๆ

          เจดีย์รายหมายเลข ๑๔   อยู่ห่างออกไปทางทิศเหนือของวิหาร  ประมาณ ๓ เมตร  เป็นเจดีย์ทรงกลมบนฐานแปดเหลี่ยม  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔.๔ เมตร  สภาพชำรุดเหลือเพียงฐานเฉพาะส่วนใต้องค์ระฆัง  ไม่พบร่องรอยการก่อพอกในสมัยหลัง น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย  พร้อมๆ กับการก่อพอกเจดีย์รายองค์อื่นๆ

          เจดีย์รายหมายเลข ๑๕   ห่างจากเจดีย์รายหมายเลข ๑๔ มาทางทิศตะวันตก ประมาณ ๘ เมตร  เป็นเจดีย์ทรงกลมบนฐานแปดเหลี่ยม  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔.๔ เมตร  ก่ออิฐถือปูนข้างในก่อตัน  สภาพชำรุดมาก  น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย พร้อมๆ กับการก่อพอกเจดีย์รายองค์อื่นๆ

          เจดีย์รายหมายเลข ๑๖   เป็นเจดีย์ทรงปรางค์  ตั้งอยู่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกำแพงแก้ว  สภาพชำรุดหักพัง  ยอดปรางค์หักหาย  องค์เจดีย์เอนมาทางทิศใต้  รูปแบบปรางค์เป็นแบบอยุธยาตอนปลาย

          ๕.  สระน้ำ  นอกกำแพงแก้ววิหารด้านทิศตะวันออกมีสระน้ำจำนวน ๒ สระ  ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ๑ สระ  ขนาดกว้างประมาณ ๑๒ เมตร  ยาวประมาณ ๑๓ เมตร  ขอบสระทั้ง ๔ ด้านก่อด้วยอิฐไม่สอปูน  อีกสระหนึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ สระนี้มีขนาดใหญ่กว่า  กว้างประมาณ ๑๙ เมตร ขอบสระทั้ง ๔ ด้านก่อด้วยอิฐไม่สอปูนเช่นเดียวกัน  น่าจะสร้างเมื่อสมัยแรกสร้างวัดในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑

          ๖.  อาคารด้านทิศใต้ของเขตพุทธาวาส   ทางทิศใต้ห่างจากกำแพงแก้ววิหารประมาณ ๓ เมตร  มีอาคารขนาดกว้างประมาณ ๕ เมตร  ยาวประมาณ ๘ เมตร  ก่ออิฐสอปูน  สภาพชำรุดมากเหลือเพียงฐาน  น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง 

          ๗.  อาคารด้านทิศเหนือของเจดีย์ประธาน  ทางทิศเหนือของเจดีย์ประธาน  มีอาคารก่ออิฐสอปูนขนาดกว้างประมาณ ๔.๔ เมตร  ยาวประมาณ ๕ เมตร  สภาพชำรุดมากเหลือเฉพาะส่วนฐาน  กำหนดอายุน่าจะอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

          ๘.  อาคารด้านทิศตะวันออกของสระน้ำ  ทางทิศตะวันออกของสระน้ำ  มีอาคารก่ออิฐสอปูนขนาดกว้างประมาณ ๘.๔ เมตร  ยาวประมาณ ๑๓ เมตร  มีบันไดด้านทิศใต้  สภาพเหลือเพียงเฉพาะส่วนฐาน กำหนดอายุน่าจะอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

          ๙.  อุโบสถ  อยู่ห่างจากสระน้ำมาทางทิศใต้ประมาณ ๑๐ เมตร  สภาพชำรุดหักพัง  หลังคาพังทลาย  อิฐและปูนฉาบบางบริเวณหลุดร่วง  จากลักษณะทางสถาปัตยกรรม สันนิษฐานได้ว่า  น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายเนื่องจากรูปแบบเหมือนอุโบสถสมัยอยุธยาตอนปลายโดยทั่วไป  การใช้ช่องหน้าต่างแทนช่องแสง  ลวดลายที่ใช้ประดับ และลักษณะใบเสมา เป็นต้น
          อุโบสถก่อด้วยอิฐสอปูน ขนาดกว้างประมาณ ๑๒ เมตร ยาวประมาณ ๑๖ เมตร  หันหน้าไปทางทิศตะวันออก  มีระเบียงทั้ง ๔ ด้าน  ประตูทางเข้าอยู่ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกด้านละ ๒ ประตู  ผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้มีหน้าต่างด้านละ ๒ บาน  มีเสาติดผนัง ๖ ต้น  ด้านในอุโบสถมีเสารอบรับโครงหลังคา ๘ ต้น  ตรงกลางยกพื้นให้สูงขึ้นประมาณ ๒๐ เซนติเมตร  เพื่อเป็นอาสน์สงฆ์ ซึ่งจากการขุดตรวจพบว่าอาสน์สงฆ์นี้ทำขึ้นภายหลัง  ด้านล่างของผนังทำเป็นฐานบัวลูกแล้วอกไก่  ด้านหลังติดแนวผนังด้านทิศตะวันตกมีบริเวณฐานชุกชี  จากการขุดแต่งพบว่าหลังคามุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วย  รอบๆ มีฐานใบเสมาโดยรอบทั้ง ๘ ทิศ 
          อุโบสถล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว กว้างประมาณ ๒๓ เมตร ยาวประมาณ ๓๐ เมตร  มีซุ้มประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก แนวกำแพงแก้วนี้ชำรุดและถูกรื้อทำลายเป็นส่วนมาก  เหลือให้เห็นชัดเจนบางช่วงด้านทิศใต้

          ๑๐.  กำแพงวัด  ล้อมรอบวัดทั้ง ๔ ด้าน แนวกำแพงก่ออิฐสอปูน ขนาดกว้างประมาณ ๘๔ เมตร  ยาวประมาณ ๑๓๕ เมตร  เหลือเพียงส่วนฐานของกำแพง  และซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก ๒ ซุ้ม ด้านอื่นคงถูกทำลายไปแล้ว  สันนิษฐานว่าน่าจะมีซุ้มประตูด้านทิศตะวันตกอีก ๒ ซุ้ม  ทิศเหนือและทิศใต้อีก ๑ ซุ้ม  กำหนดอายุการสร้างน่าจะอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์  ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ - ๒๔

          นอกจากโบราณสถานที่กล่าวมายังพบฐานสิ่งก่อสร้างอีกหลายแห่ง  อาทิ  บริเวณแนวกำแพงแก้วเขตพุทธาวาส  บริเวณเขตสังฆาวาสและแนวกำแพงแก้วรอบอุโบสถ  สภาพชำรุดเหลือเพียงฐาน  กำหนดอายุการสร้างน่าจะอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  จากลักษณะทางสถาปัตยกรรม  สันนิษฐานว่าสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ไม่น่าจะมีหลังคาคลุม อาจเป็นเพียงแท่นฐานสี่เหลี่ยมไว้สำหรับวางสิ่งของ  เพราะแท่นฐานมีขนาดเล็กไม่สามารถรองรับจำนวนคนได้  ยกเว้นฐานสิ่งก่อสร้างซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของอาคารด้านทิศใต้ของเขตพุทธาวาส ฐานมีขนาดกว้าง ๔.๘ เมตร  ยาว ๑๐.๑๐ เมตร  สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอาคารโถง  พื้นก่ออิฐฉาบปูน  มีเสาไม้รองรับโครงหลังคาซึ่งมุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วย  มีปีกนกทั้ง ๔ ด้าน

          วัดตระไกร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถนของชาติไทยโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เล่ม ๖๐  ตอนที่ ๕๙  วันที่ ๒๐ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๔๘๖.

 

 

 

 

* นางสุนิสา   มั่นคง   ค้นคว้าเรียบเรียง

[๑] อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา  กับคำวินิจฉัยของพระยาโบราณราชธานินทร์  และเรื่องศิลปและภูมิสถานอยุธยา  ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๙.

[๒] การแบ่งยุคศิลปะสมัยอยุธยา   โดยมากกำหนดลักษณะสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาเป็นหลัก  ศาสตราจารย์  หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ  ดิศกุล  นักโบราณคดี แบ่งเป็น ๔ ยุค  ได้แก่
         ยุคที่ ๑     เริ่มตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓  จนถึงสิ้นรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ใน พ.ศ. ๒๐๓๑
         ยุคที่ ๒     เริ่มตั้งแต่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นไปเสวยราชย์  ณ เมืองพิษณุโลก  พ.ศ. ๒๐๐๖
         ยุคที่ ๓     เริ่มตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
         ยุคที่ ๔     เริ่มตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. ๒๒๗๕)  จนถึงเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒  พ.ศ. ๒๓๑๐

[๓] กรมศิลปากร, พระราชวังและวัดโบราณในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (พระนคร : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี. ๒๕๐๐). หน้า ๑๒๙ - ๑๓๓.

 

 

 

 วิดีทัศน์