ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

วัดพนัญเชิง


 

                วัดพนัญเชิง[๑] วัดพนัญเชิง ตั้งอยู่ริมฝั่งทางทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลกระมั่ง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเป็นวัดที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒  ตอนที่ ๗๕  วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

                วัดพนัญเชิง เป็นวัดที่มีมาแต่โบราณ ก่อนที่พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยา ๒๖ ปีไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ตามพงศาวดารเหนือว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นผู้สร้างและพระราชทานนามว่า “วัดเจ้าพระนางเชิง” มีตำนานกล่าวไว้ดังนี้ [๒]

                “ขณะนั้นพระเจ้ากรุงจีนได้บุตรบุญธรรมในจั่นหมาก เอามาเลี้ยงไว้ให้นามชื่อว่า นางสร้อยดอกหมาก ครั้นวัฒนาการเจริญขึ้น จึงให้หาโหรมาทำนายว่า ลูกกูคนนี้จะควรคู่ด้วยกษัตริย์เมืองใด โหรพิเคราะห์ดูหาเห็นว่าจะอยู่แห่งใดไม่ เห็นอยู่แต่ทิศตะวันตกกรุงไทย มีบุญญาภิสังขารมากนักเห็นจะควรกับพระราชธิดา จึงกราบทูลว่าจะได้กับพระเจ้ากรุงไทยเป็นแน่ พระเจ้ากรุงจีนให้แต่งพระราชสาส์นเข้ามา ให้ขุนแก้วการเวท [๓] ถือเข้ามา ขุนนางผู้ใหญ่นำเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์น จึงสั่งให้เบิกทูตานุทูตเข้าไปเฝ้า ในพระราชสาส์นนั้นว่า พระเจ้ากรุงจีนให้มาเป็นพระราชไมตรีถึงพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ด้วยเราจะยกพระราชธิดาให้เป็นพระอัครมเหสี ให้เสด็จออกมารับโดยเร็ว ครั้นได้แจ้งในพระราชสาส์นดังนั้นก็ดีพระทัย จึงตรัสว่าเดือน ๑๒ จะยกออกไป ให้ตอบแทนเข้าของไปเป็นอันมาก ทูตทูลลากลับไป จึงสั่งให้จัดเรือเอกไชยเป็นกระบวนพยุห"

                จุลศักราช ๓๙๕ มีมะเมีย เบญจศก ครั้น ณ วันเดือน ๑๒  แรม ๑๑ ค่ำ ได้ศุภวารฤกษ์ดี จึงยกพยุหะไปทางชลมารคพร้อมด้วยเสนาบดี เสด็จมาถึงแหลมวัดปากคลองพอน้ำขึ้น จึงประทับเรือพระที่นั่งอยู่หน้าวัด จึงทอดพระเนตรเห็นผึ้งจับอยู่ที่อกไก่ใต้ช่อฟ้าหน้าบัน จึงทรงพระดำริว่า จะขอนมัสการพระพุทธปฏิมากร เดชะบุญญาภิสังขารของเราๆ จะได้ครองไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎรด้วยกันเสร็จ ขอให้น้ำผึ้งย้อยหยดลงมา กลั้วเอาเรือรีบขึ้นไปประทับแทบพระกำแพงแก้วนั้นเถิด พอตกพระโอษฐ์ลงดังนั้นน้ำผึ้งก็ย้อยลงมา กลั้วเอาเรือพระที่นั่งรื้อขึ้นไปถึงที่ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเห็นประจักษ์แก่ตาแล้ว เสด็จนมัสการจึงเปลื้องเอาพระภูษาทรงสักการบูชาพระพุทธปฏิมากรนั้นเสร็จแล้ว เสด็จลงเรือพระที่นั่งก็ถอยลงมาตามเดิม พระสงฆ์สมภารลงมาถวายชัยมงคลว่า มหาบพิตรพระราชสมภารจะสำเร็จความปรารถนาจะครองไพร่ฟ้าอยู่เย็นเป็นสุขทั่วทิศ จึงถวายพระนามว่าพระเจ้าสายน้ำผึ้ง ครั้นน้ำหยุดจะลงพระองค์ก็สั่งให้ท้าวพระยาพฤฒามาตย์ทั้งหลายแลเสนามนตรีกลับขึ้นไปรักษาพระนคร แต่พระองค์เสด็จไปทรงเรือพระที่นั่งเอกไชยลำเดียว ด้วยอำนาจพระราชกุศลที่ได้สร้างมาแต่ปางหลัง ก็เสด็จไปโดยสะดวกจนถึงเขาไพ่ [๔] พอจีนทั้งหลายเที่ยวอยู่ในท้องทะเลนั้นเห็นเป็นอัศจรรย์นัก จึงนำเอาเนื้อความกราบทูลพระเจ้ากรุงจีนๆ ก็สะดุ้งตกใจนัก จึงสั่งให้เสนาผู้ใหญ่ไปดูว่าจะมีบุญจริงฤๅ ๆ ประการใด ให้ประทับ ๒ แห่ง ที่อ่าวนาคคืน ๑ ครั้นเพลาค่ำ จีนใช้คนสอดแนมดูว่าจะเป็นประการใด ครั้นไปฟังดูได้ยินเสียงดุริยางคดนตรีครึกครื้นไป จึงเอาเนื้อความดังนั้นกราบทูล จึงสั่งให้เชิญมาอยู่อ่าวเจ้าเสือคืนหนึ่ง จึงแต่งการรับ ครั้นเพลาราตรีกาล เทพยดาบันดาลดุริยางคดนตรี ครั้นรุ่งขึ้นจึงพระเจ้ากรุงจีนแต่งการกระบวนแห่รับพระเจ้าสายน้ำผึ้งเข้ามาพระราชวังจีนทั่วประเทศสรรเสริญบุญทั่วไป พระเจ้ากรุงจีนให้ราชาภิเษกนางสร้อยดอกหมาก เป็นพระอัครมเหสีพระเจ้าสายน้ำผึ้ง พระเจ้ากรุงจีนแต่งสำเภา ๕ ลำ กับเครื่องอุปโภคบริโภคอันมาก ให้จีนมีชื่อ ๕๐๐ คนเข้ามาด้วย จึงพระเจ้ากรุงจีนให้เชิญพระเจ้าสายน้ำผึ้งไปเฝ้า ตรัสว่าบ้านเมืองหามีผู้ใดรักษาไม่ แลเกลือกจะมีศึกมาย่ำยี ให้พากันกลับไปพระนครเถิด พระเจ้าสายน้ำผึ้งก็ถวายบังคมลาพานางลงสำเภา ๑๕ วัน มาถึงแดนพระนคร ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยกับพระราชาคณะ ราษฎร เทพนิกร ก็โสมนัสยินดีทั่วไปจึงแต่งการรับเสด็จพระราชาคณะฐานานุกรม ๑๕๐ ไปรับที่เกาะ จึงเรียกเกาะพระแต่นั้นมา แล้วก็เชิญเสด็จมาท้ายเมืองที่ปากน้ำแม่เบี้ย และเสนาบดีราชาคณะจึงเชิญเสด็จเข้าพระราชวัง สั่งให้จัดที่ตำหนักซ้ายขวาสำเร็จแล้ว จึงให้เถ้าแก่กับเรือพระที่นั่งลงมารับนาง ๆ จึงตอบว่า มาด้วยพระองค์โดยยาก มาถึงพระราชวังแล้วเป็นไฉนจึงไม่มารับ ถ้าพระองค์ไม่ลงมารับแล้วไม่ไป เถ้าแก่เอาเนื้อความมากราบทูลทุกประการ พระองค์แจ้งดังนั้นก็ว่าเป็นหยอกเล่น มาถึงนี่แล้วจะอยู่ที่นั่นก็ตามเถิด นางรู้ความดังนั้นสำคัญว่าจริงยิ่งเศร้าพระทัยนัก ครั้นรุ่งเช้าแต่งกระบวนแห่มารับ จึงเสด็จพระราชดำเนินมาด้วย ครั้นถึงเสด็จมาบนสำเภารับนาง ๆ ตัดพ้อว่าไม่ไปพระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงสัพยอกว่าไม่ไปแล้วก็อยู่นี่ พอตกพระโอษฐลง นางก็กลั้นใจตาย พวกจีนไทยร่ำรักแซ่ไป          

                จุลศักราช ๔๐๖ ปีมะโรงฉศก จึงเชิญศพมาพระราชทานพระเพลิงที่แหลมบางกะจะ สถาปนาเป็นพระอาราม ให้นามชื่อว่าวัด “พระเจ้าพระนางเชิง” แต่นั้นมา

                สิ่งสำคัญภายในวัด

                พระอุโบสถ มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบทรงโรง กว้าง ๕ วา  ๖ นิ้ว ยาว ๘ วา  ๑๘ นิ้ว หน้ามุขยาว ๓ วา สูงแต่พื้นถึงอกไก่ ๖ วาเศษ เป็นมุขลดไม่มีลวดลายประดับ ระหว่างประตูด้านหน้าทำซุ้มติดกับผนัง ภายในซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ๑ องค์ ในพระอุโบสถมีพระประธาน ๕ องค์ นั่งเรียงเป็นแถว มีขนาดองค์ไม่เท่ากัน คือ

                ๑. พระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่กลาง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ลงรักปิดทองปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๖ ศอก ๓ นิ้ว สูงตลอดพระรัศมี ๕ ศอก  ๑๑ นิ้ว

                ๒. พระพุทธรูปองค์ที่ ๒ เบื้องขวา เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๓ นิ้ว  สูงตลอดรัศมี ๔ ศอก ๑๑ นิ้ว

                ๓. พระพุทธรูปองค์ที่ ๓ เบื้องขวา เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย สมัยอยุธยา หน้าตักกว้าง ๑ ศอก ๑๒ นิ้ว สูงตลอดรัศมี ๒ ศอก ๔ นิ้ว

                ๔. พระพุทธรูปองค์ที่ ๒ เบื้องซ้าย เป็นพระพุทธรูปนาก ปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๑๓ นิ้ว สูงตลอดพระรัศมี ๙ ศอก

                ๕. พระพุทธรูปองค์ที่ ๓ เบื้องซ้าย เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย สมัยอยุธยา หน้าตักกว้าง ๑ ศอก ๑๖ นิ้ว สูงตลอดพระรัศมี ๒ ศอก ๑๒นิ้ว

                พระวิหารเขียน

                พระวิหารเขียน คือพระวิหารตั้งคู่กับพระอุโบสถอยู่ด้านซ้ายของพระวิหารหลวง มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบทรงโรง กว้าง ๔ วา ๒ ศอก ๑ คืบ ๙ นิ้ว  ยาว ๘ วา ๑๘ นิ้ว  หน้ามุข ๗ ศอก  ๓ นิ้ว สูงจากพื้นถึงอกไก่ ๒ วาเศษ เป็นมุขลดมีซุ้มหน้าเหมือนพระอุโบสถ ภายในซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยา เดิมที่ผนังด้านหน้าของพระวิหารเขียนนี้มีลายเขียนเรื่องมารผจญ ผนังด้านขวาเขียนตอนมารเข้าผจญ ผนังด้านซ้ายเขียนตอนมารหนี นอกจากนี้เขียนเป็นลายกระถางต้นไม้ต่างๆ จึงเป็นเหตุเรียกชื่อวิหารนี้ว่า “วิหารเขียน” แต่เนื่องจากลวดลายเขียนต่างๆ ของเดิมได้ลบเลือนไปในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้มีการปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมโดยฉาบปูนเป็นพระวิหารใหม่ และภายในพระวิหารมีพระพุทธรูปปั้นสมัยอยุธยาประดิษฐานอยู่

                พระวิหารหลวง

                พระวิหารหลวง คือพระวิหารใหญ่ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบทรงโรง กว้าง ๑๓ วา สูง จากพื้นถึงอกไก่ ๑๘ วา ๒ ศอก อยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นมุขลดไม่มีลวดลายประดับ ระหว่างประตูด้านหน้าทำซุ้มติดกับผนัง ตามผนังใหญ่ทั้ง ๔ ด้านเจาะช่องเป็นซุ้มไว้พระพุทธรูปปางต่างๆ และพระพิมพ์เป็นช่องอย่างเป็นระเบียบ ช่องพระพิมพ์นั้นสำหรับบรรจุพระพิมพ์ ๘ หมื่น ๔ พันองค์ เป็นพระขนาดเล็กเสาภายในพระวิหารหลวงเขียนด้วยดินสีแดงตัดเส้นเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๕ ปัจจุบันได้ลบเลือนไปแล้ว หัวเสาประดับด้วยบัวกลุ่มสมัยอยุธยา ส่วนบานประตูแกะสลักเป็นลายก้านขดยกดอกนูนออกมาเหนือลวดลายเป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยาที่งดงาม และที่ผนังวิหารหลวงนี้มีจิตรกรรมแสดงภาพขนาดเล็ก เป็นเรื่องราววิถีชีวิตของคนจีน เช่น ผู้ใหญ่สอนหนังสือเด็ก การค้าขาย ฯลฯ รวมทั้งวรรณกรรมของจีนเรื่อง “ไซอิ้ว”

                ภายในวิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐานพระประธานพระพุทธไตรรัตนายก (หลวงพ่อโตหรือหลวงพ่อพนัญเชิง) เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปะอู่ทอง หน้าตักกว้าง ๑๔ เมตรเศษ สูง ๑๙ เมตร ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมกับวัด แต่ในจดหมายเหตุว่า สร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๘๘๗ ก่อนพระเจ้าอู่ทองสร้างพระนครศรีอยุธยา ๒๖ ปี จึงเรียกนามว่าวัดพนัญเชิง ในจดหมายเหตุของแคมเฟอร์ เขียนเมื่อครั้งเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาว่า พระพุทธรูปองค์นี้เป็นของขอม และในหนังสือภูมิสถานอยุธยาว่าเป็นของพระเจ้าสามโปเตียน ซึ่งน่าจะเพี้ยนมาจากภาษาจีนว่า “ชำปอกง” แปลว่า “รัตนตรัย”

                พระพุทธไตรรัตนายก มีการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์หลายครั้ง ซึ่งในสมัยอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงซ่อมครั้งหนึ่ง ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาได้ซ่อมแซมอีกหลายพระองค์ และในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุโลกมหาราช ได้ทรงปฏิสังขรณ์และได้รับการบูรณะอีกหลายพระองค์ต่อมา โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้บูรณะใหม่ทั้งองค์ เมื่อปลาย พ.ศ. ๒๓๙๗ แล้วถวายพระนามว่า “พระพุทธไตรรัตนายก” ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๔๔ เกิดไฟไหม้ที่ผ้าห่มพระพุทธไตรรัตนายก เกิดชำรุดเสียหายหลายแห่ง จึงโปรดให้บูรณะขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมพลอดุลยเดช ได้จัดการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์อีกหลายครั้ง

                พระพุทธรูปนี้เป็นที่เคารพนับถือทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เดินทางมาจากทุกสารทิศ เพื่อมาสักการบูชา ขอความเป็นสิริมงคลให้กับตัวเองและครอบครัวสืบไป

                ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก

                ตั้งอยู่ภายนอกบริเวณพระวิหารและพระอุโบสถ หันหน้าไปทางทิศเหนือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ลักษณะอาคารเป็นเก๋งจีน ก่ออิฐถือปูนเป็นอาคาร ๒ หลัง เชื่อมติดต่อกันมีทางเชื่อมตรงกลาง  หลังคาลดชั้น ๒ ชั้น หน้าบันเขียนรูปสีเจ้าแม่สร้อยดอกหมากและที่ขอบหลังคาเขียนภาพเขียนและรูปเทพธิดากำลังบรรเลงดนตรี อาคารด้านหน้าเป็นอาคารชั้นเดียวเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไตรรัตนายกจำลอง ส่วนอาคารด้านหลังเป็นอาคาร ๒ ชั้น ชั้นบนเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ซึ่งชาวจีนเรียกว่า “จู๊แซเนี้ย” ส่วนชั้นล่างมีรูปปั้นเทพเจ้ากวนอู

                ศาลาการเปรียญ

                อยู่ทางทิศตะวันตก เป็นอาคารทรงไทยเรือนไม้สัก เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ ๔ มีเฉลียง ๒ ชั้น หน้าบันสลักลวดลาย ประดับช่อฟ้า ใบระกา ภายในเพดานประดับด้วยดาวและระหว่างคอสองมีภาพเขียนพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติจนถึงปรินิพพาน ปัจจุบันใช้เป็นที่สำหรับทำบุญเลี้ยงพระ.

 

 

 

[๑]  นางสาวนันทวัน สาวนายน  ค้นคว้าเรียบเรียง

[๒] ศิลปากร, กรม. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๒. (จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๓๙). หน้า ๑๐๘

[๓] ต้นฉบับสมุดไทย เลขที่ ๓๘ ว่า ขุนแก้วการเวก

[๔] ต้นฉบับสมุดไทย เลขที่ ๓๘ ว่า เขาไฟ เลขที่ ๔๒ ว่า ภูเขาไฟ

 

 

 

 

 วิดีทัศน์

วัดพนัญเชิง

ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก

 

 แผนที่ : การเดินทาง