ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

วัดประดู่ทรงธรรม


 

          วัดประดู่ทรงธรรม [๑]  ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ อยู่ระหว่างตำบลไผ่ลิง และตำบลหันตราในเขตเมืองเก่าอโยธยา ทางทิศตะวันออกของเกาะเมือง ภูมิประเทศโดยรอบทั่วไปเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ด้านทิศตะวันตกมีลำคูเล็กๆ ที่เชื่อมแม่น้ำป่าสักสายใหม่เข้ามาภายในวัดจนถึงเขตพุทธาวาส มีลักษณะเป็นนทีสีมาล้อมรอบกำแพงแก้ว ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขินมากแล้ว น้ำในสระใช้การไม่ได้เนื่องจากคลองที่เชื่อมมาจากแม่น้ำป่าสัก ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า คลองประดู่ ถูกทำลายไปแล้ว ในพระราชพงศาวดารรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๖๓ ได้กล่าวถึงชื่อ วัดประดู่โรงธรรมเป็นครั้งแรกว่า [๒]

          “ครั้งนั้นญี่ปุ่นเข้ามาค้าขายหลายลำ ญี่ปุ่นโกรธว่าเสนาบดีมิได้เป็นธรรม คบคิดกันเข้าด้วยพระพิมลธรรมฆ่าพระมหากษัตริย์เสีย ญี่ปุ่นคุมกันได้ประมาณ ๕๐๐ ยกเข้ามาในท้องสนามหลวงคอยจะกุมเอาพระเจ้าอยู่หัว อันเสด็จออกมาฟังพระสงฆ์บอกหนังสือ ณ พระที่นั่งจอมทอง ๓ หลัง ขณะนั้น พอพระสงฆ์วัดประดู่โรงธรรมเข้ามา ๘ รูป พาเอาพระองค์เสด็จออกมาต่อหน้าญี่ปุ่น…” อีกความหนึ่งกล่าวว่า

          “แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการให้วิเสทแต่งกัปปิยะจังหันถวายพระสงฆ์ วัดประดู่ เป็นนิตยภัตอัตรา”

          ในแผนที่อยุธยาฉบับพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ได้กล่าวถึงบริเวณที่ตั้งวัดประดู่ทรงธรรมว่าเดิมมีวัดประดู่วัดหนึ่งและวัดโรงธรรมอีกวัดหนึ่ง [๓] ขื่อและความหมายของวัดประดู่น่าจะมีสาเหตุมาจากที่ตั้งของวัดซึ่งมีไม้ประดู่ขึ้นอยู่จำนวนมาก คงจะไม่ได้หมายความถึงการนำเอาชื่อเจ้าชายประดู่ หรือเจ้าฟ้าอุทุมพร มาตั้งเป็นชื่อวัด น่าที่จะนำชื่อวัดไปตั้งเป็นชื่อเจ้าชายมากกว่า จดหมายเหตุชาวต่างประเทศ “ตุรแปง” ได้กล่าวถึงชื่อของเจ้าชายประดู่ คือเจ้าฟ้าอุทุมพร ได้สละราชสมบัติและมาผนวชอยู่ ณ วัดแห่งนี้

          ในสมัยรัชกาลที่ ๔ - ๕ ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยพระยาโบราณราชธานินทร์ สั่งให้ช่างคัดลอกภาพจิตรกรรมฝาผนังจากวัดยมลงบนสมุดข่อยนำมาเขียนลงในวิหารวัดประดู่ทรงธรรมเป็นภาพเรื่อง ไตรภูมิ เทพชุมนุม พุทธประวัติทศชาติชาดก ขบวนช้าง ภาพการละเล่น และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้โปรดให้จัดการเรื่องผลประโยชน์ในที่วัดร้างแขวงกรุงเก่า ซึ่งจากเอกสารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กล่าวไว้ว่า

          “วัดประดู่เก่า ตำบลหันตรา มีเนื้อที่ ๑ ไร่ ๑ งาน เช่า ๑ ปี ๔๐ อัฐ เช่า ๓ ปี ๑ บ. ๕๖ อัฐ” [๔] ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ปรากฏว่ามีพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เสด็จพระราชดำเนินมายังวัดนี้หลายพระองค์ เป็นต้นว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ เป็นต้น เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดนี้ครั้งหนึ่ง การเสด็จมาครั้งนั้น มีปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุโหร ของจมื่นก่งศิลป (หรุ่น) จากประชุมพงศาวดารภาคที่ ๘ ว่า

          “วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ กฐินวัดประดู่” [๕]

          วัดประดู่ทรงธรรมมีเจ้าอาวาสที่สำคัญๆ ปกครองวัด ๘ รูป คือ

๑. หลวงพ่อรอด (เสือ)
๒. พระอุปัชฌาย์ม่วง (หลวงพ่อม่วง)
๓. พระอุปัชฌาย์ศรี (หลวงพ่อศรี)
๔. พระวิสุทธางจเรย์เถรสังฆปาโมกข์
๕. พระอุปัชฌาย์เหมิง (เหมิง)
๖. พระครูสาธุกิจการี
๗. พระอธิการทอง อุตฺตโม
๘. พระอธิการอู ธมมฺวิโรจโน

          เจ้าอาวาสรูปที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ หลวงพ่อรอด (เสือ) เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดนี้ ตามประวัติว่าท่านเป็นศิษย์เก่าของวัดประดู่ทรงธรรม (วัดประดู่เก่า) ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชาติภูมิของท่านจะอยู่ที่ไหนไม่ปรากฏ ภายหลังท่านลงไปศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมอยู่ ณ วัดระฆังโฆสิตาราม (วัดบางหว้าใหญ่) กรุงเทพมหานคร ต่อมาจะด้วยสาเหตุใดไม่ปรากฏ ท่านได้เดินทางออกจากวัดระฆังโฆสิตารามโดยทางเรือ และพายเรือขึ้นไปจนถึงบ้านกะมัง จังหวัดพิจิตร พอเย็นลงจวนค่ำก็ไปจอดเรือจำวัดอยู่ตรงท่าที่เสือลงเล่นน้ำ ชาวบ้านเห็นเข้าก็พากันอาราธนาให้ท่านไปจอดเรือทางฝั่งที่มีบ้านผู้คนอยู่อาศัย แต่ท่านไม่ยอมไปกลับพูดว่า เสือก็อยู่ตามเสือ คนก็อยู่ตามคน ครั้นรุ่งขึ้นเช้าไม่ปรากฏว่าท่านเป็นอันตรายจากสัตว์ร้ายแต่อย่างใด ชาวบ้านเห็นเป็นอัศจรรย์ พากันเลื่อมใส เอากัปปิยะจังหันมาถวายท่านเป็นอันมาก จากนั้นท่านก็พายเรือล่องมายังพระนครศรีอยุธยา พักจอดเรืออยู่ที่หน้าวัดนางชี (ปัจจุบันเป็นวัดร้างอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก หน้าวัดประดู่ทรงธรรมด้านตะวันตก) แล้วขึ้นไปสำรวจตรวจตราดูสถานที่ที่จะสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งท่านได้พิจารณาเห็นว่าสถานที่ตรงที่ตั้งวัดประดู่ทรงธรรม ในปัจจุบันนี้ เป็นที่เหมาะสมไม่ใกล้ไม่ไกลจากหมู่บ้านนัก เป็นที่สงบ ควรเป็นที่ตั้งวัดได้จึงดำเนินการสร้างเสนาสนะกุฏิสงฆ์ขึ้นเป็นที่พำนักอาศัยพร้อมทั้งอุโบสถ วัดประดู่ทรงธรรมจึงเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาสืบต่อมาจนทุกวันนี้

          หลวงพ่อรอดหรือหลวงพ่อรอด (เสือ) องค์นี้ เล่ากันว่าท่านเป็นพระเถระที่ยอดเยี่ยมในด้านวิชาอาคม มีชื่อเสียงโด่งดังองค์หนึ่ง และในสมัยของหลวงพ่อรอด (เสือ) นี้เองได้มีเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับวัดหงส์รัตนาราม ตำบลวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร อยู่เรื่องหนึ่งคือ

          ที่วัดหงส์รัตนารามมีสระเก่าอยู่สระหนึ่งมีอายุร่วม ๑๐๐ ปี เรียกว่า “สระน้ำมนต์” รูปสระเป็นลักษณะ ๔ เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๖ วา ยาวประมาณ ๒๖ วา ลึกประมาณ ๑.๕๐ เมตร ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกตอนส่วนท้ายของวัดนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ และเชื่อกันว่ามีก้อนหินอาคมอยู่ก้นสระตามหลักฐานของเจ้าคุณพระรัตนมุนี (บาง ธมมฺรํสี ป.๖) อดีตเจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนาราม เล่ากันว่าครั้งหนึ่งมีพระภิกษุในวัดหงส์รัตนารามรูปหนึ่งไปธุดงค์และพักอยู่ที่วัดประดู่ทรงธรรม พระนครศรีอยุธยา ได้พบกับพระเถราจารย์ผู้ทรงคุณวิชาองค์หนึ่ง ท่านถามถึงสระน้ำมนต์ดังกล่าวนี้ แล้วฝากหินกายสิทธิ์ลงอาคมแผ่นหนึ่งให้มาใส่ในสระน้ำ เมื่อพระภิกษุรูปนั้นกลับมาถึงวัดหงส์รัตนารามก็เล่าให้พระภิกษุสามเณรฟังและต่างขอดู พอเอาออกจากย่ามมาถึงข้างนอกก็กลายเป็นหินก้อนใหญ่มหึมา ยกคนเดียวไม่ไหว เป็นอัศจรรย์ต้องช่วยกันยกไปใส่ไว้ในสระนี้

          อีกหลักฐานหนึ่งว่า พระอาจารย์ดีหรือสมเด็จพระสังฆราช (ดี) ซึ่งมาจากวัดประดู่ทรงธรรมในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (กรุงธนบุรี) ท่านลงแผ่นหินประกอบพิธีสระน้ำมนต์หลวงพ่อรอดหรือหลวงพ่อรอด (เสือ) จะปกครองวัดประดู่อยู่นานประมาณกี่ปีและจะถึงมรณภาพเมื่อใดไม่ปรากฏ แต่ยังมีเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านอยู่องค์หนึ่งหน้าศาลาการเปรียญ มีประชาชนเคารพนับถือมากพากันมาบนบานและเคารพกราบไหว้มิได้ขาด ในยุคพระอธิการทอง อุตฺตโม เป็นเจ้าอาวาส ได้สร้างรูปปูนปั้นของอดีตเจ้าอาวาสองค์ที่ ๑ ถึงองค์ที่ ๖ ขนาดหน้าตัก ๘ นิ้ว เท่ากันทุกองค์ โดยนายวิบูลย์ (ทองดี) มีชูทรัพย์ เป็นผู้ออกแบบ ครูเพี้ยน โรงเรียนการช่างพระนครศรีอยุธยา เป็นช่างปั้น เสด็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘  ปัจจุบันทางวัดได้ทำรูปปูนปั้นจำลองขึ้นใหม่และตั้งไว้ในศาลาการเปรียญหลังใหม่ ส่วนรูปปั้นเดิมนำไปเก็บไว้ยังหอพระ ซึ่งสามารถขอเข้าชมได้

          เขตพุทธาวาสของวัดประดู่ทรงธรรม มีลักษณะพิเศษที่เรียกว่า นทีเสมา คือ เขตพุทธาวาสทั้งหมดตั้งอยู่บนเนินดินที่มีคูน้ำโอบรอบกำแพงแก้ว ภายในกำแพงแก้วประกอบด้วย

อุโบสถ
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เป็นฝีมือช่างอยุธยาตอนปลาย บัวที่ฐานอุโบสถทำเป็นบัวที่มีแข้งสิงห์รองรับสลับเป็นช่วงๆ ไม่ทำยาวตลอด น่าจะเลียนแบบมาจากวัดกุฎีดาว[๖] ซึ่งปัจจุบันได้ถูกทางวัดเทปูนทับแข้งสิงห์ที่เป็นฐานหมดแล้วไม่มีร่องรอยเหลือให้เห็นเลย ตัวอุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูทางเข้าเพียงด้านเดียว ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ปิดทอง มีขนาดหน้าตักกว้าง อุโบสถหลังนี้มีลักษณะที่เรียกว่าแบบมหาอุด หน้าบันอุโบสถทำเป็นลายเครือเถา ประดับกระจก

ใบเสมา
ทำด้วยศิลาทราย มีขนาดหนา ๑๒ เซนติเมตร เสมาชัยหน้าอุโบสถสลักลาย ๒ ด้าน สูง ๗๖ กว้าง ๔๒ เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายเสมาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชต่างกันตรงไม่มีฐานเสมาเหมือนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ลายตรงเส้นกลางเสมามีขนาดเล็ก ส่วนบนมีลักษณะผายและทำยอดแหลมเข้าใจว่าน่าจะเป็นเสมาสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ ส่วนใบเสมาอื่นๆ จะสลักลายเพียงหน้าเดียวแต่จะมีขนาดและรูปร่างเหมือนกับเสมาชัย

วิหาร
วิหารอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของอุโบสถเป็นวิหารที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในมีภาพเขียน มีประตูทางเข้าทั้งทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ทั้งสองด้านมีประตูทางเข้าด้านละ ๒ บาน บนบานประตู มีร่องรอยของการเขียนภาพลงบนบานประตู แต่ปัจจุบันลบเลือนหมดแล้ว สันนิษฐานว่าวิหารเดิมน่าจะสร้างในสมัยอยุธยาเนื่องด้วยฐานชุกชีที่มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่นั้นเป็นแบบอยุธยาโดยชัดเจน นอกจากนี้ฐานของวิหารด้านนอกมีลวดบัว และใต้ลวดยังมีแข้งสิงห์สลับลายเหมือนกันกับอุโบสถ สมัยในรัชกาลที่ ๔ มีการปฏิสังขรณ์ เครื่องบน และต่อเป็น (พาไล) ยื่นออกมา ภาพเขียนภายในวิหารน่าจะเป็นภาพที่เขียนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และได้มาปฏิสังขรณ์ใหม่ในรัชกาลที่ ๔ ที่เข้าใจเช่นนี้เนื่องด้วยภาพขบวนต่างๆมีบางอย่างคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรมที่วัดยม  รายละเอียดของขบวนแห่ที่ว่าคล้ายของวัดยมนั้น เช่น ฉัตร รูปร่างของฉัตร บางคันมีลายตรงระบายคล้ายรวงผึ้งซึ่งเหมือนกัน รูปหมวกหนังของทหารบางกองก็คล้ายหมวกในขบวนทัพที่วัดยม ซึ่งน่าจะเชื่อได้ว่าของเดิมนั้นคงจะมีอยู่มาในรัชกาลที่ ๕ เพียงแต่มาปฏิสังขรณ์แล้วดัดแปลงไปบ้าง น่าเสียดายว่าปัจจุบันอุโบสถวัดยมของเก่าถูกรื้อเสียแล้ว ส่วนภาพจิตรกรรมได้รับการคัดลอกไว้ และสมุดเล่มที่คัดลอกภาพเก็บรักษาอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ ที่ผนังด้านหน้าพระประธาน มีแผ่นจารึกบอกศักราชที่ได้ปฏิสังขรณ์วัดนี้ว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๕ โดยกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ และพระพุทธสร พระประธานภายในวิหารเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยลงรักปิดทอง ๓ องค์ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีเดียวกัน

พระเจดีย์บรมธาตุ
อยู่ระหว่างอุโบสถและวิหาร เป็นเจดีย์ย่อมุมตั้งบนฐานทักษิณสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ มีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันตก ราวบันไดทำเป็นพญานาค บนลานทักษิณประดิษฐานพระเจดีย์ย่อมุม ๑ องค์ ส่วนยอดของเจดีย์ทำเป็นฉัตร ๕ ชั้น ครอบทับอยู่ ปัจจุบันส่วนยอดชำรุดแล้ว ทางด้านทิศตะวันตกขององค์เจดีย์ตรงกันกับบันไดทางขึ้นบนลานทักษิณมีแผ่นจารึกหินอ่อนเขียนไว้ว่า “พระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุนี้ พระสละ กิจเจริญวงศ์ ได้ซ่อมแซมเสร็จ พ.ศ. ๒๕๒๔ สิ้นเงิน ๙๘,๓๕๔.- บาท ใกล้กันกับองค์เจดีย์บนลานทักษิณทางด้านทิศตะวันออกยังมีศาลาก่ออิฐถือปูนหลังเล็ก ๑ หลัง ภายในศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนปางลีลา ศิลปะรัตนโกสินทร์ ๑ องค์ และรูปปั้นจำลองของพระครูสละ กิจเจริญวงศ์ ผู้บูรณปฏิสังขรณ์ ด้านหน้าพระเจดีย์บรรจุพระธาตุดังกล่าวเป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิพระครูสละ กิจเจริญวงศ์ ลักษณะเจดีย์คล้ายคลึงกันกับองค์เจดีย์พระบรมธาตุ ต่างกันแต่เจดีย์องค์นี้ตรงปากระฆังทำเป็นฐานบัวกลุ่มรองรับ

วิหารหลวงพ่อศรีสิริสากยมุนี
ระหว่างวิหารและเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ หลวงพ่อศรีสิริสากยมุนี เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิองค์ใหญ่หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ประดิษฐานอยู่ในวิหารซึ่งก่อทึบขึ้นไป มีทางเข้าด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ลักษณะวิหารก่อเป็นตึกทึบสูงขึ้นไปสองชั้น หลังคาทำเป็นหลังคาธรรมดามิได้มีการประดับตกแต่งอย่างใด ตรงประตูทางเข้ามีป้ายเขียนไว้ว่า “หลวงพ่อศรีสิริสากยมุนี สร้าง ๒๕๑๙”

เจดีย์แปดเหลี่ยม
ตรงมุมกำแพงแก้วด้านหน้าวิหารทางทิศตะวันออก มีเจดีย์แปดเหลี่ยมขนาดย่อมประดิษฐานอยู่บนฐานทักษิณสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก บนลานทักษิณทำเป็นกำแพงแก้วก่อทึบ มีบันไดขึ้นทางด้านทิศตะวันตก ทรงของเจดีย์เป็นแปดเหลี่ยมตั้งแต่ฐานไปจนถึงยอดองค์ระฆัง ปากระฆังทำเป็นฐานบัวกลุ่มรองรับ ซึ่งคงเป็นลักษณะของเจดีย์สมัยพระเจ้าท้ายสระ

เจดีย์บรรจุอัฐิอดีตเจ้าอาวาส
ตั้งอยู่ในแนวเดียวกับเจดีย์แปดเหลี่ยม แต่อยู่ทางทิศตะวันตกเป็นเจดีย์ย่อมุม ประดิษฐานอยู่บนฐานทักษิณสี่เหลี่ยมย่อมุม มีบันไดทางขึ้นทางด้านทิศใต้ บนฐานทักษิณทำเป็นกำแพงแก้วมีเสาดินเผาเคลือบล้อมรอบอีก ๑ ชั้น ตรงฐานขององค์เจดีย์ทางด้านทิศใต้ ที่ตรงกับบันไดทางขึ้น มีแผ่นจารึกหินอ่อนบอกไว้ว่าเจดีย์องค์ที่บรรจุอัฐิของอดีตเจ้าอาวาส ดังนี้

- อนุสาวรีย์บรรจุอัฐิอดีตเจ้าอาวาสวัดประดู่ทรงธรรม
- พระอุปัชฌาย์ ศรี อายุ ๗๒ ปี
- พระวิสุทธาจเรย์เถรสังฆปาโมกข์ เลื่อง อายุ ๖๐ ปี
- พระอุปัชฌาย์ เหมิง อายุ ๗๓ ปี บรรจุเมื่อ ๒๖ ตุลาคม ๒๔๘๕
- พระครูสาธุกิจการี ชม อายุ ๖๓ ปี บรรจุเมื่อ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๑๘

          ในเขตสังฆาวาส ประกอบด้วยหมู่กุฏิสงฆ์ ดังนี้
- หมู่กุฏิใหญ่ ๕ หลัง หลังหนึ่งมีช่อฟ้าใบระกาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเป็นที่อยู่ของอดีตเจ้าอาวาส
- ด้านทิศเหนือมีกุฏิ ๓ หลัง
- ด้านทิศใต้ ๔ หลัง
- ด้านทิศตะวันออก ๖ หลัง (มีกุฏิตึก ๑ หลัง ชื่อ กุฏิสามัคคีกิจเจริญวงศ์ สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๕๑๒)
- ด้านทิศตะวันตก ๒ หลัง
- กุฏิเล็กหน้ากุฏิด้านทิศใต้ ๔ หลัง
- กุฏิเล็กปฏิบัติธรรมฐานหน้าวิหารทางทิศตะวันออก ๔ หลัง

          ศาลาการเปรียญ

          ศาลาการเปรียญหลังเดิมเป็นศาลาไม้สัก ด้านหลังตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของหอระฆัง ปัจจุบันถูกรื้อทำลายหมดแล้ว ส่วนศาลาการเปรียญหลังใหม่ก่อสร้างเป็นศาลาการเปรียญแบบใหม่ คือเป็นตึก ๒ ชั้น แต่เครื่องบนทำเป็นลักษณะหลังคาจั่วทรงไทย และทางวัดได้นำหน้าบันเก่าของศาลาการเปรียญหลังเดิมขึ้นไปประดับบนศาลาการเปรียญหลังใหม่นี้ด้วย ภายในศาลาการเปรียญ ทางวัดได้จัดทำรูปจำลองของเจ้าอาวาสองค์ที่ ๑ ถึงองค์ที่ ๖ ประดิษฐานไว้ในศาลาการเปรียญหลังนี้ด้วย (รูปปูนปั้นเดิมของอดีตเจ้าอาวาสที่ปั้นโดยนายวิบูลย์ (ทองดี) มีชูทรัพย์ นั้นทางวัดได้นำไปเก็บไว้ยังหอพระซึ่งสามารถขอเข้าชมได้

          หอระฆัง

          เป็นศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย เข้าใจว่าน่าจะเป็นฝีมือสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะมีรูปทรงสูงประมาณ ๒.๓ เมตร ชั้นกลางทำหน้าต่างโค้งรอบด้าน แต่เดิมเมื่อสร้างน่าที่จะโปร่ง  ต่อมาเมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงได้ก่ออิฐปิดเหลือช่องทางเข้าทางเดียว ภายในชั้นนี้มีบันไดขึ้นไปสู่ตัวระฆังได้ ที่เสาโคนบันไดมีจารึกเขียนไว้ว่า พระใบฎีกาเทียม กับพระบัง ผู้ทำผู้ซ่อม เมื่อเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘“ ขึ้นไปชั้นบนเป็นที่ไว้องค์ระฆัง เป็นระฆังทองเหลือง หูระฆังทำเป็นเศียรพญานาค ๔ เศียร ที่ขอบปากระฆังมีจารึกบอกปีที่สร้างว่า “สุพะมัศศุพุทศักราช หล้วงได้ ๒๓๙๙ ร่าง สาเษคเดือน 0 หรวง ได้ ๙ เดือน ปีมะโลง อัทศกเดือน ๔ ทารตาเวียน ทารยาย 0 นุ่ม ทรงระฆัง.วยวัดบ่คู้โหรง ทรม ซ”อให คดงง ความ ปร้าทนา แห่งๆ ท ทวงสองดวง อ่ณาขฎโน้นเท่ด” ส่วนยอดของหอระฆังทำเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้ ๑๒ ประดิษฐานอยู่

          เจดีย์ บรรจุอัฐิหลวงพ่อรอด (เสือ)

          ตั้งอยู่ในเขตสังฆาวาสทางด้านทิศตะวันตกของหอระฆัง มีลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง หลวงพ่อรอด (เสือ) เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดประดู่ที่มีกิตติคุณมาก (ดูประวัติเจ้าอาวาส) โดยได้ทำวิหารเล็กๆ ครอบลงไปบนองค์เจดีย์ มีทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันตก องค์เจดีย์ได้รับการบูรณะทาสีใหม่และทางวัดได้ทาสีทองบนองค์เจดีย์ หน้าวิหารยังทำรูปยักษ์ปูนปั้นประดับกระจกสียืนเฝ้าองค์เจดีย์อยู่ตรงประตูทางเข้าด้วย ส่วนบนของวิหารทำเป็นยอด มีครุฑประดับอยู่ทั้ง ๔ ทิศ.

 

 

 

[๑] นายกำธรเทพ กระต่ายทอง ค้นคว้าเรียบเรียง

[๒] ตรี อมาตยกุล, พระราชพงศาวดารกรุงสยาม (พระนคร : อักษรสัมพันธ์,๒๕๐๗), หน้า ๓๓๒ - ๓๓๔.

[๓] สอดคล้องกับพงศาวดารสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมที่เรียกว่า วัดประดู่โรงธรรม

[๔] กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, เรื่องการจัดผลประโยชน์ในที่วัดร้างแขวงกรุงเก่า, (๑๒ – ๑๖ กรกฎาคม ๑๒๑) ๑๑ หน้า.

[๕] เฉลิม สุขเกษม, ประวัติวัดประดู่ทรงธรรม (เทียนวัฒนา, ๒๕๑๘.), หน้า ๒๑, ๒๕.

[๖] น. ณ ปากน้ำ, ห้าเดือนกลางซากอิฐปูน (กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ ๒๕๒๙), หน้า ๙๐,๙๑.

 

 

 

 วิดีทัศน์

 

 แผนที่ : การเดินทาง