ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

วัดบางกะจะ


 

         

          วัดบางกะจะ (เดิมเรียกวัดท้ายแหลมบางกะจะ) ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ตำบล สำเภาล่ม สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย อาณาเขตพื้นที่วัดเป็นที่ราบลุ่มอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและป่าสัก เป็นสามแยกแม่น้ำที่แม่น้ำป่าสักมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นศูนย์การค้าที่สำคัญในสมัยอยุธยา ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำมองเห็นวัดพนัญเชิงและป้อมเพชร บริเวณริมน้ำหน้าวัดเป็นหาดทรายมูลยาวตลอดแนว โบราณสถานภายในวัด มีเจดีย์องค์ใหญ่ฐานทรงเหลี่ยม ซึ่งสร้างในสมัยอยุธยาและทำการบูรณะภายหลัง วัดบางกะจะ สร้างขึ้นเมื่อใดยังไม่มีหลักฐานแน่นอน เพราะไม่มีเอกสารใดกล่าวถึงชื่อวัด มีแต่กล่าวถึงที่ตั้งของวัด ดังนี้ พงศาวดารเหนือ กล่าวถึง “จุลศักราช 406 (พ.ศ. 1587) ปีมะโรง ฉศก จึ่งเชิญพระศพ (นางสร้อยดอกหมาก) มาพระราชทานเพลิงที่แหลมบางกะจะ สถาปนาเป็นพระอารามให้ชื่อว่า วัดพระเจ้าพระนางเชิงแต่นั้นมา...” พระราชพงศาวดารฉบับหลววงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวว่า “เมื่อราวปีจอ จุลศักราช 936 พ.ศ. 2117 ให้ขุดคูเมืองด้านตะวันออกซึ่งเรียกว่า ขื่อหน้า ให้กว้างลึกตั้งแต่วัดแม่นางปลื้มลงมาจนบางกะจะ และขยายแนวกำแพงเมืองด้านตะวันออกลงมาถึงริมน้ำ...” พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขารัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ตอนสงครามช้างเผือก เมื่อพระเจ้าหงสาวดียกทัพมาล้อมกรุงรีอยุธยา 7 วัน กล่าวว่า “ขณะนั้นพระยาตานีศรีสุลต่านยกทัพเรือหย่าหยับสองร้อยลำเข้ามาช่วยราชการสงครามถึงทอดอยู่หน้าวัดกุฎิ์บางกะจะ รุ่งขึ้นยกเข้ามาทอดอยู่ประตูไชย...” และในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา ว่า “ลุศักราช 924 ปีจอ จัตวาศก (พ.ศ. 2105) สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวให้แต่งพระนคร ให้ขุดคูขื่อฝ่ายทิศบูรพา แต่ป้อมมหาชัยวังหน้าลงไปบรรจบบางกะจะ กว้างสิบวา ลึกสามวา แล้วให้ยกกำแพงออกไปริมน้ำขอบนอกพระนครป้อมมหาชัย แต่บ้อมมหาชัยลงไปบรรจบป้อมเพชร...” ปัจจุบันเขตสังฆาวาสของวัดบางกะจะมีอาคารเสนาสนะคือ ศาลาการเปรียญกว้าง 11 เมตร ยาว 20 เมตร หอสวดมนต์สร้างเมื่อ พ.ศ. 2519 เป็นอาคารเสริมเหล็ก ปูพื้นปาเก้ กุฏิสงฆ์จำนวน 9 หลัง เป็นอาคารไม้ 7 หลัง คอนกรีตเสริมเหล็ก 2 หลัง ส่วนเขตพุทธาวาส มีอุโบสถ วิหาร และเจดีย์ ตั้งอยู่บนเนินถมสูง มีกำแพงสี่เหลี่ยมล้อมรอบ ฐานกำแพงปั้นปูนเป็นรูปบัวคว่ำ หลังกำแพงปั้นปูนเป็นลอนซ้อนกัน 3 ลอน มุมกำแพงเป็นเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์ ผ่านประตูทางเข้าเขตพุทธาวาส เป็นวิหารที่เหลือเพียงผนังสกัดหลัง เจาะช่องแนวตั้งเรียงกันเป็นจังหวะ ภายในช่องเรียงอิฐเป็นรูปมะหวดเหลี่ยวคล้ายคลึงกับช่องแนวที่ตั้งระเบียงคตของวัดไชยวัฒนาราม มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยตั้งอยู่บนฐานหน้าผนังสกัด ข้างหน้ามีแท่นต้ังเศียรพระพุทธรูปแบบทวารวดีทำด้วยหินทราย 3 เศียร พื้นที่ระหว่างวิหารกับอุโบสถมีเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมเข้าใจว่าเป็นลักษณะของเจดีย์แบบล้านนา อุโบสถสร้างใหม่ขนาดเล็กภายในมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปหล่อขึ้นใหม่ปางมารวิชัย อยู่ในซุ้มเรือนแก้วแบบพระพุทธชินราช พระอัครสาวกทำด้วยปูนปั้นยืนประนมมือ อยู่ด้านซ้ายและขวา หลังพระประธานมีพระพุทธรูปปูนปั้นที่ชำรุดตั้งอยู่บนฐาน รอบอุโบสถมีใบเสมาทำด้วยหินชนวนตั้งอยู่เป็นระยะส่วนใบเสมาเก่าที่เหลืออยู่ทำด้วยหินทราย ตั้งพิงฐานใบเสมาใหม่ ภายในบริเวณวัดยังมีพระพทธรูปทำด้วยหินทรายเศียรหักหายไปแล้วอีก 2 - 3 องค์ ลักษณะศิลปกรรมที่ปรากฎในวัดบางกะจะดังกล่าว หากพิจารณาเฉพาะเจดีย์ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเจดีย์แบบล้านนาก็น่าจะพิจารณาว่าวัดนี้คงสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 21 อันเป็นช่วงที่ศิลปล้านนาแพร่หลายลงมาสู่กรุงศรีอยุธยา วิหารมีพระพุทธรูปหน้าตักกว้าง 120 นิ้ว สูง 150 นิ้ว ชาวบ้านเรียกนามว่า “พระพุทธเศวตมงคล (หลวงพ่อขาว)” และมีพระพุทธรูปสองพี่น้องแกะสลักจากหินอุโบสถ ซึ่งเดิมพระพุทธรูปสององค์นี้ได้ถูกตัดเหลือแต่เศียร ทิ้งอยู่บริเวณอุโบสถเก่า ต่อมาเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันได้นำมาปั้นต่อองค์ตัวพระใหม่ และประดิษฐานอยู่หน้าวิหารหลวงพ่อขาว ตัวอาคารวิหารทำการบูรณะใหม่เมื่อ พ.ศ. 2546 วัดบางกะจะชาวบ้านเรียกว่า “วัดใหม่บางกะจะ” สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2200 และได้รับวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2210 ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านเชื่อกันว่า วัดใหม่บางกะจะเป็นที่ตั้งค่ายของพม่าในสมัยอยุธยา เพื่อต่อสู้กับทหารของสยามบริเวณป้อมเพชร