ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

วัดสุวรรณดาราราม


 

          เป็นพระอารามของต้นราชวงศ์จักรี เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร มีประวัติในหนังสือประวัติวัดสุวรรณดารารามรวบรวมและเรียบเรียงโดยขุนศารทประภาศึกษากร พิมพ์ที่โรงพิมพ์การศาสนา ไม่ปรากฏศักราชที่พิมพ์มีข้อความดังนี้

        "วัดนี้เป็นวัดที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก ตอนใต้เหนือบริเวณป้อมเพชร โดยสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกแห่งพระบรมราชวงศ์จักรี พระนามเดิมว่า "ทองดี" มีอัครชายาว่า "ดาวเรือง" รับราชการเป็นเสมียนตรามหาดไทยในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นออกพระอักษรสุนทรศาสตร์ มีนิวาสสถานอยู่เหนือป้อมเพชร นายทองดีสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) คือ บุตรเจ้าพระยาโกษามีชื่อว่าทองคำ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระราชนิกูล พระราชนิกูลมีบุตรชื่อทองดี และท่านผู้นี้เป็นพระบรมมหาชนกของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นผู้ทรงสร้างวัดนี้ และให้ชื่อว่า "วัดทอง" (ในราวแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ต่อพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) วัดนี้จึงจัดเป็นวัดของต้นบรมราชวงศ์จักรีทางฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คู่กับวัดอัมพวันเจติยาราม แขวงบางช้าง อำเภออัมพวัน จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี (นาค) พระชนนีของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชินีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสร้างขึ้น

          สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) พระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระผู้ทรงสถาปนาราชวงศ์จักรีนี้ มีพระประวัติกล่าวต่อไปอีกว่า อันพระบุรุษบูรพชนของท่านซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาปานนั้น ท่านเจ้าพระยาโกษาปานนี้เป็นบุตรของหม่อมเจ้าหญิงอำไพ ราชธิดาของสมเด็จพระเอกาทศรถ พระราชอนุชาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัย และหม่อมเจ้าหญิงอำไพผู้นี้ในพงศาวดารมักจะรู้จักกันในนามเจ้าแม่วัดดุสิต พระนมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วนฝ่ายข้างบิดาของเจ้าพระยาโกษาปานนั้นเล่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ได้ ทรงเล่าให้ฟังว่ามีเชื้อสายสืบมาแต่ทหารมอญ ซึ่งได้ละทิ้งการอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพม่า ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมา แต่เมื่อคราวสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับจากถูกนำพระองค์ไปเป็นองค์จำนำ และเมื่อคราวกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อ พ.ศ. 2310 นั้น สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) มีบรรดาศักดิ์เป็นที่ออกพระสุนทรศาสตร์หรือพระอักษรสุนทร ท่านหาได้อยู่ในกรุงไม่ หากแต่ท่านได้ไปรับราชการอยู่ที่เมืองพิษณุโลก แต่ตอนก่อนกรุงแตก ครั้นเมื่อกรุงแตกแล้วได้มีคนไทยผู้รักชาติตั้งก๊กต่างๆ เพื่อทำการกู้ชาติขึ้น 5 ก๊ก และเจ้าพระยาพิษณุโลก ก็ได้เป็นหัวหน้าก๊กๆ หนึ่งด้วย ท่านเจ้าพระยาพิษณุโลกก็ได้แต่งตั้งพระอักษรสุนทร (ทองดี) ขึ้นเป็นที่ "เจ้าพระยาจักรี" ในรัฐบาลของท่านด้วย

       ส่วนอรรคชายาของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) นั้น นอกจากบางตำราว่าท่านชื่อ "ดาวเรือง" เช่น ตำราเรื่องราชนิกูลรัชกาลที่ 5 พระนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธวงศ์วรเดช ก็ชื่อว่า "ดาวเรือง" เหมือนกันนั้น แต่จากพระนิพนธ์ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ในหนังสือ ชื่อก็มีบางตำรากล่าวว่าชื่อ "หยก" เหมือนกัน โดยพระองค์ท่านทรงอ้างถึงหลักฐานจากหนังสือ ซึ่งท่านเซอร์จอห์นบาวริง อ้างว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าให้ฟังเป็นภาษาอังกฤษว่าชื่อ "หยก" และเป็นธิดามหาเศรษฐีชาวจีนแห่งกรุงศรีอยุธยา นี่ก็อีกตำราหนึ่ง จึงเป็นการสมควรจะได้นำมากล่าวไว้ในที่นี้ด้วย"

          ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกได้เอาไฟเผาพระราชวัง วัดวาอารามต่างๆ ตลอดจนบ้านเรือนภายในกำแพงเมืองเสียหายย่อยยับ กวาดต้อนเจ้านายและราษฎร เก็บทรัพย์สินไปจนหมดสิ้น เพื่อมิให้ชาติไทยตั้งหลักฐานได้ต่อไป ข้าราชการ ผู้ใหญ่ ผู้น้อย ราษฎร ต่างหลบหนีเข้าดงป่าลี้ภัยพม่าและพม่ายังได้ตั้งค่ายกวาดต้อนผู้คนเก็บทรัพย์สินอยู่ที่ตำบลโพธิ์สามต้น อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

         นับตั้งแต่นั้นมากรุงศรีอยุธยาก็เป็นป่ารกร้างถูกรื้อทำลายขุดค้นหาทรัพย์สินภายในกำแพงเมืองพระนครศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรีถึงกับประมูลผูกขาดขุดค้นทรัพย์และรื้อทำลายเอาอิฐไปสร้างกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ วัดทองนี้ก็ได้ถูกรื้อทำลายไปเช่นเดียวกัน ปล่อยรกร้างมาประมาณ 18 - 19 ปี

         ต่อมาในปี พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้เสวยราชสมบัติและสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งถึงปี พ.ศ. 2328 จึงโปรดให้จัดการปฏิสังขรณ์วัดทอง ที่พระปฐมบรมมหาชนกทรงสร้างไว้แต่เดิมเสียใหม่หมดทั้งพระอาราม เพราะของเดิมได้ถูกไฟเผา และรื้อทำลายไปหมด การปฏิสังขรณ์นี้เท่ากับการสร้างใหม่ คือ สร้างพระอุโบสถ สร้างพระเจดีย์และหมู่กฏิ การปฏิสังขรณ์วัดนี้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้า) ได้ทรงเข้าร่วมปฏิสังขรณ์ด้วยพร้อมทั้งยกนิวาสสถานเดิม ซึ่งตั้งอยู่หลังป้อมเพชรให้เป็นขอบเขตของวัดและให้ขุดคลองผ่านกำแพงเมืองจากหน้าวัดทางแม่น้ำป่าสัก เข้ามาถึงหน้าพระอุโบสถ (คลองนี้ไม่ใช้คลองเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยา) เพื่อความสะดวกแก่พระภิกษุสามเณรได้ใช้น้ำในการอุปโภคและบริโภครวมทั้งเพื่อความสะดวกในการคมนาคมโดยทางเรือ  ภายในพระอุโบสถโปรดให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยเขียนเป็นภาพเทพชุมนุมที่ตอนบนของผนัง ส่วนตอนล่างเขียนเป็นภาพทศชาติชาดกไว้โดยรอบผนังภายในอาคาร ทางด้านหน้าเขียนภาพปางมารวิชัยขนาดใหญ่ มีพระแม่ธรณีบีบมวยผมยืนอยู่ตรงกลาง และโปรดให้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น "วัดสุวรรณดาราราม" โปรดให้มีพระสงฆ์มาจำพรรษาที่วัดนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2328 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงอยู่ในราชสมบัติ 28 ปี ก็สวรรคต

          ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเสวยราชสมบัติในปี พ.ศ. 2352 ได้ทรงสร้างศาลาการเปรียญเป็นศาลาดิน ก่ออิฐถือปูนเพิ่มเติมขึ้นอีก 1 หลัง แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ก็สิ้นรัชกาลที่ 2 ในปี พ.ศ. 2367 ทรงอยู่ในราชสมบัติ 16 ปี ในรัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเสวยราชสมบัติในปี พ.ศ. 2367 ต่อมาในปี พ.ศ. 2393 ได้ทรงสร้างศาลาการเปรียญต่อสำเร็จ และซ่อมภาพเขียนในพระอุโบสถซึ่งชำรุดให้บริบูรณ์ต่อไป สิ้นรัชกาลนี้ในปี พ.ศ. 2394 ทรงอยู่ในราชสมบัติ 28 ปี ในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสวยราชสมบัติในปี พ.ศ. 2394 และในปี พ.ศ.2406 ได้ทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่ ทรงสร้างพระวิหารขึ้นอีกหนึ่งหลัง ทรงโปรดให้ช่างจำลองพระแก้วมรกตทำด้วยศิลาไปประดิษฐานไว้ในพระวิหาร และทรงสร้างกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนล้อมอยู่โดยรอบเป็นสัดส่วน สร้างกำแพงชั้นนอก มีประตูทางเข้า-ออก ทำไว้เป็นระยะๆ ด้านหน้า 2 ประตู ด้านหลัง 1 ประตู ด้านเหนือ ด้านใต้ ด้านละ 1 ประตู ประดับลวดลายตรงกลางซุ้มประตู ด้านบนเป็นรูปมหามงกุฎประดิษฐานอยู่ รูปมหามงกุฎนี้เป็นตราเครื่องหมายในรัชกาลนี้ ทำประตูทั้ง 4 ด้าน ภายในทรงโปรดให้เขียนภาพเทพชุมนุมส่วนบนของผนัง ส่วนชั้นล่างเขียนภาพสมเด็จพระนเรศวรทรงกอบกู้อิสรภาพและภาพการรบต่างๆ ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร นอกจากนี้ยังได้สร้างโรงครัว 1 หลัง และขุดคลองเข้าวัดทางทิศตะวันตกต่อจากคลองในไก่เข้าถึงหมู่กุฏิในรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติในปี พ.ศ. 2411 ต่อมาในปี พ.ศ. 2441 ตรงกับปี ร.ศ.117 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หมู่กุฏิทั่วทั้งพระอาราม สิ้นรัชกาลในปี พ.ศ. 2453 อยู่ในราชสมบัติ 42 ปี ในรัชกาลที่ 6พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสวยราชสมบัติในปี พ.ศ. 2453 ต่อมาในปี พ.ศ. 2457ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ เปลี่ยนกระเบื้องเคลือบ ซ่อมภาพในพระอุโบสถ สร้างถังน้ำเพื่อให้ความสะดวกแก่พระภิกษุ สามเณร สิ้นรัชกาลในปี พ.ศ. 2468 อยู่ในราชสมบัติ 16 ปี

 

          ในรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสวยราชสมบัติในปี พ.ศ. 2468 ต่ออยู่ในราชสมบัติ 9 ปี จนถึง พ.ศ. 2477 ในรัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลฯ ได้เสวยราชสมบัติในปี พ.ศ. 2477 พระองค์มีพระชนม์มายุเพียง 9 พรรษาเท่านั้น ในรัชสมัยของพระองค์ประเทศไทยได้ก้าวไกลไปมาก มีการสร้างถนน สร้างทางรถไฟหลายสาย บำรุงกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และได้มีอุปสรรคสำคัญโดยการเกิดสงครามโลก และสงครามฝรั่งเศส สิ้นรัชกาลในปี พ.ศ. 2489  อยู่ในราชสมบัติ 12 ปี

          การปฏิสังขรณ์ของเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้บูรณะปฏิสังขรณ์อะไรบ้าง มาปรากฏหลักฐานในสมัยพระสุวรรณวิมลศีล (ดิษ) เมื่อปี พ.ศ. 2447 ตรงกับปี ร.ศ. 123 ได้ขุดลอกคลองเดิมที่รัชกาลที่ 4 ได้ขุดไว้ทางทิศตะวันตกต่อจากคลองในไก่เข้ามาถึงศาลาการเปรียญ ขยายให้กว้างขึ้นอีก เพื่อให้ใช้ได้ทุกฤดู และได้สร้างกุฏิ 2 ชั้น ทรงปั้นหยา 1 หลัง ต่อมาสมัยพระสุวรรณวิมลศีล (ลับ) ได้ซ่อมตึกหลังเก่าขยายให้ใหญ่โตขึ้นกว่าของเดิม มีมุขด้านหน้าทำเป็น 2 ชั้น ใช้เป็นสถานการศึกษาปริยัติธรรม กับทำถนนเข้าวัดทางด้านทิศใต้ต่อจากถนนอู่ทองมาถึงศาลาการเปรียญ สมัยพระศรีสุธรรมมุนี ได้ทำถนนภายในวัด ปฏิสังขรณ์กุฏิ และต่อเติมระเบียงด้านหน้า-หลังศาลาการเปรียญทั้ง 2 ด้าน ทางราชการได้ย้ายโรงเรียนภาษาไทย ซึ่งเดิมเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปอยู่ในโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จึงย้ายโรงเรียนปริยัติธรรมไปอยู่ ณ ศาลาการเปรียญตึกหลังที่ปรับปรุงเป็นที่อยู่ของท่าน

 

 

 

 วิดีทัศน์