ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

พระเจดีย์สมเด็จพระสุริโยทัย


 

       พระเจดีย์และอาคารพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระสุริโยทัย∗ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีโบราณวัตถุสถานเป็นจำนวนมาก โบราณวัตถุสถานเหล่านี้ ส่วนมากอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมแม้ว่าในเวลานี้พระนครศรีอยุธยาจะได้รับการประกาศให้เป็นมรดก โลกแห่งหนึ่งแล้วก็ตาม แต่โบราณวัตถุสถานที่ถูกบุกรุกทำลายอยู่ทุกวัน ทั้งๆ ที่หน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ ได้พยายามดูแลรักษาสมบัติล้ำค่าไว้ พระเจดีย์ศรีสุริโยทัยเป็นเจดีย์สำคัญองค์หนึ่ง เพราะเป็นอนุสรณ์สถานที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงวีรกรรมแห่งความจงรักภักดีอันเด็ดเดี่ยว กล้าหาญและเสียสละของสมเด็จพระสุริโยทัย ผู้ซึ่งยอมสระพระชนม์ชีพปกป้องสมเด็จพระมหา จักรพรรดิพระราชสวามีไว้ให้พ้นภัยจากอริราชศัตรู เพื่ออยู่ดำรงรักษาเศวตฉัตรสืบต่อไป

          พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย ตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า “วัดสวนหลวงสบสวรรค์ ติดกับถนนอู่ทอง ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันตกของเกาะเมือง

       พระราชพงศาวดารกล่าวว่า “เมื่อสมเด็จพระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า จึงได้เชิญพระศพสมเด็จพระสุริโยทัย ผู้เป็นพระอัครมเหสีมาไว้ ตำบลสวนหลวง…ครั้นกองทัพสมเด็จพระเจ้าหงสาวดียกไปแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า ได้แต่งการพระราชทานเพลิงศพพระสุริโยทัยเสร็จแล้ว สมเด็จพระมหาธรรมราชา ก็ถวายบังคมลากลับขึ้นไปยังเมืองพิษณุโลก ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าให้สถาปนาที่พระราชทานเพลิงนั้น เป็นพระเจดีย์ วิหารเสร็จแล้ว ให้นามวัดสบสวรรค์

        สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ขณะนั้นเป็นตอนปลายแห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องราววีรกรรมของสมเด็จพระสุริโยทัยที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยานั้นคงทราบกันอยู่ในวงแคบ แต่สถานที่คือ “วัดสบสวรรค์” อันเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ของพระองค์นั้น ย่อมไม่มีผู้ใดรู้หรือเฉลียวใจว่าจะอยู่ที่ใดแน่ ดังนั้นเมื่อมีการตั้งกรมทหารมณฑลกรุงเก่าเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๙ จึงได้เลือกสถานที่ภายในกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสถานที่ทำการก่อสร้าง จนกระทั่งสองปีให้หลังเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาประกอบพิธีสังเวยอดีตมหาราช ณ พะนครศรีอยุธยา ดังนั้น พระยาโบราณราชธานินทร์ ผู้ซึ่งรับราชการอยู่ที่พระนครศรีอยุธยาเป็นเวลานานจึงได้ศึกษาจาก เอกสารโบราณเกี่ยวกับภูมิสถานที่ภายในพระนครศรีอยุธยา และได้เรียบเรียงเรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่ตั้ง สำคัญๆ ของกรุงศรีอยุธยาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในหนังสือชื่อ “อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา” หนังสือ อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยาของพระยาโบราณราชธานินทร์ฉบับนี้ระบุว่า กรมทหารที่สร้างใหม่นั้นตั้ง ตรงบริเวณที่เคยเป็นสวนหลวง วังหลัง และวัดสบสวรรค์ นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ภายหลังต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว “เหล่าเสนาว่าทูลละอองธุลีพระบาทราชบริพาร…” จึงพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์เทิดพระเกียรติสมเด็จพระสุริโยทัย และจารึกข้อความสดุดีวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ไว้ด้วย

        ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๗๒ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสืออธิบายแผน ที่พระนครศรีอยุธยาของพระยาโบราณราชธานินทร์ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้ง เนื่องในงานพระเมรุท้องสนามหลวง พระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนาถฯ ในหน้าที่ภาพถ่ายพระเจดีย์ระหว่างหน้า ๗๐-๗๑ มีคำ บรรยายใต้ภาพว่า “พระเจดีย์วัดสวนหลวงสบสวรรค์ ในรัชกาลที่ ๖ โปรดฯ ให้เรียกว่า “พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย”๒ การที่พระยาโบราณราชธานินทร์ ได้อ้างไว้ในหนังสือที่พิมพ์เป็นครั้งที่สองของท่านซึ่งเป็นเวลาที่ ท่านยังมีชีวิตอยู่ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจาอยู่หัว โปรดให้เรียกเจดีย์องค์นี้ว่า “เจดีย์ศรีสุริโยทัย” จึงมีความหมายถึงการสถาปนาอนุสรณ์สถานของสมเด็จพระสุริโยทัยขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่งจากองค์เจดีย์ที่ เป็นสิ่งก่อสร้างที่เหลืออยู่เพียงชิ้นเดียวของอนุสรณ์สถานสมเด็จพระสุริโยทัย ซึ่งหลักฐานในพระราช พงศาวดารกล่าวว่า แต่เดิมอยู่ ณ วัดสวนหลวงสบสวรรค์นั้น มิได้มีหลักฐานยืนยันว่าจะต้องเป็นเจดีย์บรรจุ อัฐิสมเด็จพระสุริโยทัยด้วยหรือไม่ พระเจดีย์ศรีสุริโยทัยและภูมิสถาปัตย์โดยรอบมีเนื้อที่ทั้งหมด ๑๓ ไร่ ๓๘ ตารางวา ประกอบด้วยรั้วแบบย่อมุมสมัยอยุธยา สร้างเป็นกำแพงแก้วทึบเจาะช่องโปร่งใส่ มีโคมไฟประดับทุกๆ ๕ เมตร รั้วสูง ๑.๒๐ เมตร รั้วด้านหน้ายาว ๑๔๐ เมตร ด้านหลังยาว ๘๐ เมตร มีประตูทางเข้า ๒ ประตู อยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จากประตูทางเข้าตรงมาสองข้างทางจะเป็นสวนหย่อมปลูกไม้ประดับ ถัดออกไปทางด้านซ้ายมือมีทางเดินปูด้วยอิฐบล็อกเรียงแบบก้างปลา ทั้ง ๒ ข้างของทางเดินจัดทำ เป็นสวนหย่อมตรงไปตามทางเดินนี้จะพบพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสององค์ใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้พระราชทานนามพระเจดีย์องค์นี้ว่า “พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย”

          พระเจดีย์องค์ดังกล่าวประดิษฐานอยู่บนฐานประทักษิณหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ฐานประทักษิณทำเป็นฐานบัวลูกแก้ว อกไก่ย่อมุมรอบฐานประทักษิณทำกำแพงแก้ว ทึบล้อมรอบ มีช่องบันไดทางขึ้นลงด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ บนลานทักษิณพื้นปูด้วยอิฐ บล็อกแบบก้างปลา ด้านหน้าองค์พระเจดีย์ออกเก็จ เป็นชานชาลากว้างเพื่อรองรับบันไดทางขึ้นคูหาขององค์เจดีย์ ส่วนฐานเจดีย์ประดิษฐานอยู่บนลายทักษิณทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง ด้านทั้งสี่ ออกเก็จรองรับซุ้มทิศที่ยื่นออกมาจากเรือนธาตุ ฐานเจดีย์เป็นฐานเขียงซ้อนด้วยฐานบัวลูกแก้วอกไก่และฐานสิงห์ เหนือฐานสิงห์ขึ้นไปเป็นส่วนของเรือนธาตุ มีซุ้มจัตุรมุขทำหลังคาลดชั้น ซุ้มด้านหน้าเป็นบันได ทางขึ้นสู่คูหาเจดีย์ หน้าบันของซุ้มเป็นรูปหน้ากาฬคายพวงอุบะเป็นรูปกระหนกเปลว ด้านบนทำเป็นซุ้ม หลังคา ๒ ชั้น เหนือขึ้นไปประดิษฐานสถูปย่อมุมไม้สิบสองขนาดเล็กทั้ง ๔ ด้าน ทางเข้าคูหาทำประตูไม้ ๒ บาน ลงรักปิดทองเป็นลายหน้ากาฬคายพวงอุบะเป็นลายกระหนก จากทางเข้าด้านทิศเหนือนี้ภายในองค์ เจดีย์ทำเป็นห้องสี่เหลี่ยมรูปกากบาท ตรงกลางของห้องประดิษฐาน “พระพุทธสุริโยทัยสิริกิติทีฆายุมงคล” ซึ่งมีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าทรงเป็นมงคลแห่งสมเด็จพระสุริโยทัยและทรงเจริญพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” พระพุทธปฏิมากรองค์นี้เป็นพุทธลักษณะปางประทับยืนยก พระหัตถ์ซ้ายเสมอพระอุระ หงายพระหัตถ์แบบประทานพร ส่วนพระหัตถ์ขวาทอดขนานไปกับพระโสณี มีขนาดความสูงเท่าส่วนสูงของพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ผนังคูหาทั้ง ๔ ด้าน เขียนลายพุ่มข้าวบิณฑ์ บนพื้นสีขาวอมเหลือง เหนือผนังขึ้นไปทำเป็นเพดานซึ่งมีรูปดวงดาราประทับอยู่ ๙ ดวง และมีดวงดาราเล็กๆ สลับกันไปอีก ๑๖ ดวง เหนือซุ้มเรือนธาตุขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้ว อกไก่ซ้อน กัน ๓ ชั้น เหนือฐานขึ้นไปเป็นองค์ระฆังย่อมุมไม้สิบสอง เหนือองค์ระฆังทำเป็นบัลลังก์ฐานบัวย่อมุมไม้ สิบสองรองรับเสาหานและก้านฉัตร เหนือก้านฉัตรขึ้นไปเป็นปล้องไฉนและปลียอดบนสุดประดับด้วย หยาดน้ำค้าง องค์พระเจดีย์ปิดทองตั้งแต่ชั้นฐานเหนือซุ้มจัตุรมุขขึ้นไปจนถึงยอด รวมทั้งสถูปขนาดย่อมทั้ง ๔ องค์ ที่ประดิษฐานเหนือซุ้มทิศอีกด้วย

ศิลปวัตถุที่ค้นพบ

          จากการบูรณะองค์พระเจดีย์โดยการกระเทาะผิวปูนส่วนยอดของเจดีย์ ตรงบริเวณก้านฉัตร ด้านทิศตะวันออก ได้พบช่องขนาดกว้างประมาณ ๒๐ เซนติเมตร สูง ๔๕ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๓๕ เซนติเมตร ภายในมีศิลปวัตถุ ดังนี้

          ๑. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ทำจากหินคว็อทซ์ สูง ๑๓.๕ เซนติเมตร ประทับบนฐาน ปัทม์หกเหลี่ยม สามารถแยกส่วนฐานและพระพุทธรูปออกจากกันได้เป็น ๓ ส่วน เศียรพระพุทธรูปส่วนที่ เป็นขมวดพระเกศา เมาฬี และรัศมีบุด้วยทองคำประดับอัญมณีสีแดง (ถอดออกจากพระเศียรได้)

          ๒. เจดีย์ทรงกลม ทำจากหินคว็อทซ์ มีความสูงรวม ๑๖ เซนติเมตร แยกออกได้ ๓ ส่วน ได้แก่ ส่วนฐานทำเป็นมาลัยเถา ส่วนที่สองเป็นองค์ระฆังกลม ส่วนที่ ๓ เป็นเจดีย์ ส่วนยอดตั้งแต่ก้านฉัตร ปล้องไฉน จนถึงปลียอดบุด้วยทองคำทั้งหมด บางส่วนประดับอัญมณี

          ๓. เจดีย์หกเหลี่ยม (จำลอง) บรรจุผอบทอง ๓๕.๒ เซนติเมตร ทำด้วยหินคว็อทซ์ ตั้งอยู่บนฐานปัทม์ดินเผาซึ่งบุด้วยทองประดับอัญมณีสีแดงรอบฐานตั้งเครื่องสูงโดยรอบและฐานภายในองค์ พระเจดีย์ประดิษฐานผอบทอง ซึ่งบรรจุพระอัฐิธาตุ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

๓.๑ ฐานปัทม์หกเหลี่ยม เป็นดินเผาบุด้วยทองหุ้มฐานบัวคว่ำบัวหงายทำเป็นลายกลีบ บัวประดับอัญมณีสีแดง ซึ่งส่วนใหญ่หลุดร่วง เหนือฐานปัทม์ดังกล่าวตั้งเครื่องสูงประดับ ประกอบด้วย ฉัตรสามชั้น จำนวน ๔ คัน บังสูรย์ ๑ ใบ บังแทรก ๒ ใบ และพัดโบก ๑ ใบ เครื่องสูงทั้งหมดทำจากทอง แผ่นที่ลวดลายประดับอัญมณีสีแดง และมีแผ่นทองคำรูปกลมบางๆ วางอยู่บนฐาน ๒ แผ่น ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง ๕.๕ เซนติเมตร

๓.๒ เจดีย์แก้วหกเหลี่ยม ตั้งอยู่บนฐานปัมท์สามารถแยกออกจากฐานปัทม์ได้ ส่วนเจดีย์สามารถแยกออกจากกันเป็น ๓ ส่วน ส่วนแรกเป็นฐานสิงห์รองรับองค์ระฆัง ส่วนที่สองเป็นส่วน องค์ระฆังหกเหลี่ยม ส่วนที่สามเป็นส่วนยอดทำเป็นบัวกลุ่ม ๓ ชั้น รับปลียอด

๓.๓ ผอบทอง บรรจุอยู่ในองค์เจดีย์หกเหลี่ยม ผอบสูงรวม ๗.๕ เซนติเมตร แยกออก ได้ ๒ ส่วน ส่วนแรกเป็นตัวผอบ ซึ่งภายในบรรจุพระสารีริกธาตุ ลักษณะเป็นเม็ดกลมขนาดเล็กสีขาวขุ่น คล้ายเม็ดสาคูขนาดเล็ก จำนวน ๒๒๓ องค์ ส่วนที่สองเป็นฝาผอบ ด้านบนประดับอัญมณีหลายสี

          ๔. วัตถุเบ็ดเตล็ด

- ลูกปัดรูปเม็ดมะยมสีขาว ๑๘ ลูก
- แผ่นทองกลม ๑ แผ่น
- อัญมณีสีแดงจำนวนหนึ่ง

          ปัจจุบันโบราณวัตถุทั้งหมดเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

การปรับปรุงบูรณะพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย

          การบูรณะพระเจดีย์ศรีสุริโยทัยและภูมิสถาปัตย์โดยรอบ เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ โดย พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้กำหนดนโยบายให้กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ให้ความร่วมมือสนับสนุนการปรัปปรุงพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนต่อมาซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเป็นประธานการดำเนินงาน นอกจากนี้ผู้บัญชาการ ทหารสูงสุดได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง มีผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาภาคฯ กรป. กลาง คือ พลโท อำพน อมรวิสัยสรเดช เป็นประธาน มีผู้แทนจากส่วนราชการเป็นคณะทำงาน ได้แก่ กองอำนวยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (กรป. กลาง) กรมศิลปากร ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยศิลปากร การไฟฟ้าส่วน ภูมิภาค โดยเร่งรัดแผนงานโครงการปรับปรุงบูรณะองค์พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย และภูมิสถาปัตย์โดยรอบให้ แล้วเสร็จสมบูรณ์ก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเฉลิมพระเกียรติในมหามงคลพระชนมพรรษา ๕ รอบ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ทั้งนี้นอกจากจะปรับปรุงบูรณะพระเจดีย์ฯ ให้มีความสมบูรณ์สวยงามแล้ว ยังเป็นการถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระสุริโยทัยที่ทรงมีความกล้าหาญ เสียสละแม้กระทั่งพระชนม์ชีพเพื่อความมั่นคงของชาติไทยในครั้งกระนั้นด้วย

          คณะกรรมการปรับปรุงบูรณะซ่อมแซมภูมิสถาปัตย์พระเจดีย์ศรีสุริโยทัยได้มีหนังสือ กราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนิน เปิดองค์พระเจดีย์ศรีสุริโยทัยพร้อมกับทรงบรรจุศิลปวัตถุที่จำลองตามแบบโบราณวัตถุที่พบในช่องที่อยู่บน ส่วนยอดของพระเจดีย์ขึ้นไว้ในที่เดิมขององค์พระเจดีย์ฯ รวมทั้งเสด็จฯ เพื่อทรงกระทำพระราชพิธีอัญเชิญพระพุทธปฏิมากร “พระพุทธสุริโยทัย สิริกิติทีฆายุมงคล” ประดิษฐานไว้ในองค์พระเจดีย์และทรงเปิด อาคารนิทรรศการเกียรติประวัติของสมเด็จพระสุริโยทัย เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๔

อาคารพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระสุริโยทัย

          เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวก่ออิฐถือปูนแบบยุโรป สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่เรียกว่ากรมทหารหัวแหลมนั้น เดิมคือที่ตั้งของกองพลทหารบกที่ ๓ ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๘ ขึ้นกับทหารบก มณฑลกรุงเทพฯ แบ่งเป็น ๓ กองพล กองพลที่ ๑ เป็นกองพลรักษาพระองค์ กองพลที่ ๒ รับคนมาจากมณฑลนครชัยศรี กองพลที่ ๓ รับคนมาจากมณฑลกรุงเก่า ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เกิดกบฎบวรเดช ทหารจากกองพลทหารบกที่ ๓ ได้เข้าร่วมกับฝ่ายกบฎ โดยมี พ.ท. พระวิเศษโยธาบาลเป็นผู้บัญชาการกองพล นำทหารจากเมืองกรุงเก่าล้อมดอนเมืองและบางเขน ภายหลังฝ่ายกบฎถูกปราบ พระวิเศษโยธาบาลถูกปลดและถูกจำคุก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ยุบกองพลทหารบกที่ ๓ อาคารที่ทำการ กองพลทหารบกที่ ๓ จึงกลายเป็นอาคารร้าง ทหารถูกย้ายไปขึ้นกับหน่วยต่างๆ จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงนำทหารจากภาคใต้มาประจำที่นี่ เรียกว่ากองพัน ๕๔ ต่อมาวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙ จึงตั้งกรมสรรพาวุธแทน

          ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ รัฐบาลมีนโยบายจะปรับปรุงการทำสุราและเมรัยจำหน่ายแก่ประชาชน นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง รับผิดชอบในเรื่องนี้ จึงขอนำโรงงานต้มกลั่นสุราและเมรัยมาตั้งในจังหวัดนี้โรงหนึ่ง เพื่อความเจริญทางด้านเศรษฐกิจของบ้านเกิด ของท่าน โดยนำมาตั้งที่กรมทหารเก่า “มีผลทำให้โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัดหญิง ซึ่งเริ่มเปิด สอนเมื่อ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๙ โดยอาศัยตึกรับรองของนายทหาร และอาคารบางส่วนในบริเวณโรงทหารเก่าเป็นอาคารเรียน ต้องย้ายออกไปจากกรมทหาร” ในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๓๕) อาคารดังกล่าวได้รับ การบูรณะแล้วจัดเป็นพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระสุริโยทัย เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ขนาดกว้าง ๒๑ เมตร ยาว ๒๗ เมตร หลังคามุงด้วยกระเบื้อง มีห้องทั้งหมด ๑๗ ห้อง (ห้องที่ใช้จัดแสดง ๗ ห้อง) โดยห้องแรกจากบันได้ ด้านหน้าเดินตรงไปจะพบห้องโถงใหญ่มีประตูทางเข้า ๓ ทาง ห้องแรกเป็นห้องจัดแสดงแผนที่การเดินทัพ การสงครามและการยุทธหัตถีของสมเด็จพระสุริโยทัย ตรงกลางของห้องจัดแสดงภาพของพระเจดีย์ภูเขา ทองและทุ่งภูเขาทอง ผนังด้านหลังเป็นภาพจำลองเหตุการณ์ยุทธหัตถีซึ่งเป็นวีรกรรมที่เป็นเกียรติประวัติ แห่งสมเด็จพระสุริโยทัย ทางด้านซ้ายมือของห้องมีประตูเปิดออกไปสู่ห้องจัดแสดงทางด้านซ้าย (ห้องที่ ๒) ข้างบานประตูมีภาพแผนที่แสดงจุดการยกทัพของพม่า และการป้องกันกรุงศรีอยุธยา ผนังด้านที่จัดแสดง ภาพยุทธหัตถี มีบานประตูอีก ๒ บาน ซึ่งเปิดเข้าสู่ห้องจัดแสดงอีกห้องหนึ่ง (ห้องที่ ๓) ห้องนี้เป็น เหมือนกับห้องจัดแสดงพระราชประวัติของสมเด็จพระสุริโยทัย ภายในห้องประกอบด้วยภาพลายเส้นของ พระเจดีย์ศรีสุริโยทัยที่ผนังด้านในสุดและที่ข้างประตูซึ่งติดกับห้องจัดแสดงห้องแรกแสดงภาพพระราช ประวัติของสมเด็จพระสุริโยทัยที่ทรงเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ห้องจัดแสดงทั้งสองห้องนี้มี บานประตูเปิดออกไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของอาคารได้จากห้องจัดแสดงออกไปตามประตูทางด้านซ้ายมือจะไปสู่ ห้องจัดแสดงอีกห้องหนึ่ง (ห้องที่ ๔) ซึ่งภายในห้องนี้แสดงภาพการบูรณะขุดแต่งองค์พระเจดีย์และบริเวณ โดยรอบรวมทั้งศิลปวัตถุที่ขุดพบ ที่ผนังข้างประตูจัดแสดงภาพเศียรพระพุทธรูปหินทรายที่ขุดได้ ตรงมุม ด้านซ้ายของห้องเป็นภาพขั้นตอนการบูรณะขุดแต่งองค์พระเจดีย์ และที่ผนังห้องด้านขวาเป็นภาพแสดงให้ เห็นส่วนที่พบศิลปวัตถุจากองค์พระเจดีย์ จากห้องนี้ที่ผนังด้านซ้ายมือมีบานประตูที่เปิดออกไปสู่ห้องจัด แสดงอีกห้องหนึ่ง (ห้องที่ ๕) ภายในห้องนี้เป็นห้องจัดแสดงภาพต่างๆ จากประตูทางเข้าทางด้านซ้ายมือติด กับประตูมีแผ่นคำบรรยายเรื่องช้างในสังคมไทย ทางด้านขวาของประตูเป็นภาพขบวนแห่ชาวสยาม (เสียม กุก) สลักบนหินทรายที่ระเบียงปราสาทนครวัด ศิลปะขอมครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๗ (เป็นภาพของ การยกทัพโดยขบวนช้าง ม้า และพลเดินเท้า) ถัดออกมาเป็นภาพพระจักรพรรดิราชและแก้วเจ็ดประการ สลักบนหินจาก Jaggayapeta Satavahana จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Government Museum เมืองมัท ราส ประเทศอินเดีย และภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง มโหสถ จากผนังในพระอุโบสถวัดสุวรรณดาราราม ภาพพุทธประวัติตอนมารวิชัย แกะสลักบนแผ่นไม้ ๒ ด้าน อีกด้านหนึ่งเป็นรอยพระพุทธบาทของวัดพระ รูป อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ภาพต่างๆ ที่จัดแสดงอยู่ภายในห้องนี้เป็นเรื่องของช้างที่มีความสำคัญมาแต่อดีต โดยเฉพาะสำหรับการสงครามออกจากห้องนี้ ถัดไปอีกห้องหนึ่ง (ห้องที่ ๖) จัดแสดงศิลปวัตถุต่างๆ ที่เป็นของจริงซึ่งได้จากการขุดแต่งและการบูรณะองค์พระเจดีย์และบริเวณโดยรอบ จากประตูทางเข้าทางด้านซ้ายมือจัดแสดงใบเสมาที่ขุดพบได้จากบริเวณองค์พระเจดีย์ ผนังของห้องตรงกัน กับประตูทางเข้าจัดแสดงเศียรของพระพุทธรูป ๓ เศียร ที่พบในบริเวณนั้น ถัดออกมาเป็นใบเสมาและชิ้นส่วนของพระพุทธรูป ด้านหลังเป็นภาพหลุมขุดค้นที่ขุดพบโบราณวัตถุที่จัดแสดงอยู่

          นอกจากจัดแสดงโบราณวัตถุแล้วยังมีห้องน้ำอยู่ภายในอีก ๑ ห้อง จากห้องจัดแสดงนี้เดินไปตามระเบียงด้านหน้าผ่านไปทางบันไดทางขึ้นตรงไปทางด้านขวาของอาคารจะพบห้องซึ่งจัดไว้เป็นห้อง ทรงพระสำราญสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นห้องขนาดใหญ่ติดกัน ๒ ห้อง หน้าห้องตั้งโต๊ะ ของเจ้าหน้าที่อาคารพิพิธภัณฑ์นั่งอยู่ คอยให้บริการในด้านความรู้และรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับองค์พระเจดีย์และอาคารพิพิธภัณฑ์ จากห้องทรงพระสำราญเดินเลี้ยวซ้ายไปตามทางเดินจะพบห้อง (ห้องที่ ๗) จัด แสดงภาพเกี่ยวกับอาคารและสิ่งปลูกสร้างโดยรอบองค์เจดีย์รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคและการปรับปรุง องค์พระเจดีย์โดยคณะกรรมการจาก กรป. กลาง ซึ่งห้องที่ใช้จัดแสดงภาพการปรับปรุงสถาปัตยกรรม ดังกล่าวเป็นห้อง ๒ ห้อง ติดกันที่มีประตูเปิดถึงกันได้ จากห้องจัดแสดงนี้เดินต่อไปตามทางเดินจะพบ ห้องน้ำที่มุมสุดด้านขวาและซ้ายของตัวอาคาร

อาคารสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

          เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวลักษณะสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ขนาดกว้าง ๒๖ เมตร ยาว ๓๒.๕๐ เมตร ที่หน้าจั่วของอาคารมีข้อความจารึกไว้ว่า “สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระราชทานในสมัยที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเฉลิมพระชนมพรรษา ณ พระราชวังบางปะอิน พ.ศ. ๒๔๖๐๒ จากจารึกที่ปรากฏสันนิษฐานว่าอาคารหลังนี้คงจะจัดสร้างโดยพระราชดำริของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ ๖ ซึ่งต่อมาภายหลังอาคารหลังนี้คงใช้เป็นที่ทำการของกองทหารและเป็น อาคารเรียนของโรงเรียนฝึกหัดครูตามลำดับ ลักษณะตัวอาคารทำเป็นมุขยื่นออกมา มีบันไดอยู่ทางด้าน ซ้ายมือและขวามือมีระเบียงยาวตลอดด้านหน้าของตัวอาคาร ด้านหน้ามีประตูทั้งหมด ๗ ช่อง ตรงกลางเปิดออกเป็นทางเดินสู่ภายในอาคาร ทางด้านซ้ายมือและขวามือมีประตูอีกด้านละ ๒ บาน ซึ่งสามารถเปิดออกสู่ ห้องโถงขนาดใหญ่ทางปีกซ้ายและขวาจากช่องทางเดิน ตรงกลางเดินตรงไปจะพบห้องโถงขนาดใหญ่อีก ๑ ห้อง ทางด้านซ้ายมือและขวามือของห้องโถงจะมีห้องเล็กอีกด้านละ ๑ ห้อง ห้องดังกล่าวสามารถเปิด ย้อนกลับไปสู่ห้องโถงซ้าย – ขวาทางด้านหน้าได้ ถัดจากห้องโถงใหญ่ ตรงไปจนสุดตัวอาคารจะมีห้อง ทางด้านหลังอีก ๓ ห้อง ยาวขวางตัวอาคาร ห้องริมทั้ง ๒ ด้าน ทำเป็นห้องน้ำ ส่วนห้องตรงกลางใช้เป็น ห้องเก็บของ ตรงหน้าห้องน้ำทั้ง ๒ ด้าน จะมีบันไดทางขึ้นลงอีกข้างละบันได

ศาลสมเด็จพระสุริโยทัย

          ตั้งอยู่บริเวณสวนหย่อมขององค์พระเจดีย์สุริโยทัย เป็นศาลาทรงไทยแบบจตุรมุข ภายในศาลมีพระรูปสมเด็จพระสุริโยทัย อิริยาบถยืน ทรงชุดออกศึก พระหัตถ์ขวาถือพระมาลา พระหัตถ์ซ้ายถือพระแสงง้าว

 

 

 วิดีทัศน์

 

 แผนที่ : การเดินทาง