ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

วัดบรมพุทธาราม


 

          วัดบรมพุทธาราม[๑]  ตั้งอยู่ที่ถนนศรีสรรเพชญ์ ตำบลประตูไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันเป็นวัดร้าง อยู่ในเขตรั้วสถาบันราชภัฏ พระนครศรีอยุธยา และกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๑๒ วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

          วัดบรมพุทธาราม เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งของพระนครศรีอยุธยา มีประวัติว่า พระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๓๑ - ๒๒๔๖) โปรดให้สร้างขึ้นที่พระนิเวศน์เดิมของพระองค์ในบริเวณที่เรียกว่า ย่านป่าตอง ภายในเขตกำแพงเมือง ระหว่างประตูไชยกับคลองฉะไกรน้อย พระราชพงศาวดารกล่าวไว้ว่า

          “…สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชดำริว่า ที่บ้านหลวง ตำบลป่าตองนั้น เป็นที่มงคลสิริราชฐานอันประเสริฐ สมควรจะสร้างเป็นพระอาราม มีพระอุโบสถวิหารการเปรียญ พระเจดีย์ฐานกำแพงแก้วและกุฏิสงฆ์ ศาลาสะพาน เว็จกุฏิ พร้อมแล้วทรงพระกรุณาให้หมื่นจันทรา ช่างเคลือบทำกระเบื้องเคลือบสีเหลืองมุงหลังคาพระอุโบสถวิหารทั้งปวงและการสร้างพระอารามนั้นสามปีเศษจึงสำเร็จในปีขาล อัฐศก แล้วพระราชทานนามบัญญัติพระอารามชื่อวัดพระบรมพุทธาราม ตั้งเจ้าอธิการชื่อพระญาณสมโพธิราชา คณะคามวาสีครองพระอาราม และทรงพระกรุณาให้มีการฉลอง และมีมหรสพ ๓ วัน และทรงถวายไทยทานแก่พระสงฆ์เป็นอันมาก และพระราชทานเลกข้าพระไว้อุปฐากพระอารามก็มากแล้วถวายพระกัลปนาขึ้นแก่พระอารามตามธรรมเนียม”[๒] และโดยที่สมเด็จพระเพทราชาเป็นพระมหากษัตริย์ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง วัดนี้จึงเปรียบเสมือนวัดประจำราชวงศ์บ้านพลูหลวง

          วัดบรมพุทธาราม มีชื่อเรียกกันเป็นสามัญว่า วัดกระเบื้องเคลือบ เหตุเพราะหลังคาอุโบสถมุงกระเบื้องเคลือบสีเหลืองแกมเขียว[๓]  ต่างไปจากวัดอื่น ๆ ทั่วไปในสมัยนั้นที่มุงกระเบื้องดินเผากันเป็นพื้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ในตำนานเรื่องเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้นว่า “เมื่อครั้งกรุงเก่าปรากฏในจดหมายเหตุว่ามุงกระเบื้องเคลือบแต่ ๒ แห่ง คือ พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญปราสาท เมืองลพบุรีแห่งหนึ่ง ที่วัดบรมพุทธารามในกรุงเก่าอีกแห่งหนึ่ง” เมื่อกรมศิลปากรทำการขุดแต่งวัดบรมพุทธารามเพื่อตรวจค้นหารากฐานเดิมใน พ.ศ. ๒๔๙๙ ก็ได้พบกระเบื้องเคลือบรูปครุฑ หน้าสิงห์ รูปเทพนม เคลือบสีเหลืองแกมเขียว[๔] เป็นหลักฐานยืนยันว่าวัดนี้มุงกระเบื้องเคลือบสีเหลือง (แกมเขียว) ตามที่กล่าวไว้ในพงศาวดาร อย่างไรก็ตามมีผู้สำรวจพบกระเบื้องเคลือบเป็นหลักฐานแสดงว่ามีการมุงหลังคาด้วยกระเบื้องเคลือบที่วัดอื่นด้วย คือที่วัดดุสิต[๕] เป็นกระเบื้องเคลือบสีเหลืองเหมือนกับวัดบรมพุทธาราม[๖] และที่วัดกุฏีดาว[๗] เป็นกระเบื้องเคลือบสีเหลืองเช่นเดียวกัน[๘]

          ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมโกศ (พ.ศ. ๒๒๗๕ - ๒๓๐๑) วัดนี้คงจะทรุดโทรมลง จึงโปรดให้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ และโปรดให้ทำบานประตูประดับมุกติดประตูพระอุโบสถ ปัจจุบันอยู่ที่หอมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดารามคู่หนึ่ง มีจารึกบอกไว้ที่บานประตูแห่งนี้ว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดให้ทำบานมุกประตูพระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม เมื่อปีมะแม ตรีศก จ.ศ. ๑๑๑๓ พ.ศ.๒๒๔๕ นอกนั้นยังมีอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรอีกคู่หนึ่ง ส่วนอีกคู่หนึ่งมีผู้นำไปตัดทำเป็นตู้ใส่หนังสือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ทรงได้มาและประทานแก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นงานฝีมือประดับมุกยอดเยี่ยม ซึ่งได้นำมาจัดแสดงไว้ในตำหนักแดง[๙]

          ปัจจุบัน วัดบรมพุทธารามอยู่ในสภาพที่ชำรุดหักพังไปตามกาลเวลา เพราะคงจะถูกทิ้งร้างไปเสียตั้งแต่ครั้งเสียกรุงครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ แต่กระนั้นก็ยังเหลือเค้าความงามให้เห็นอยู่โดยเฉพาะอุโบสถที่ยังมีผนังเหลืออยู่เกือบเต็มทั้ง ๔ ด้าน และมีร่องรอยจิตรกรรมที่ยังหลงเหลือให้เห็นที่บานแผละและประตูหน้าต่างอย่างเลือนลาง เช่น เป็นรูปลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายพันธุ์พฤกษา เป็นต้น ส่วนคลองฉะไกรน้อย ซึ่งเคยเป็นคลองใหญ่ในสมัยอยุธยา และไหลผ่านวัดนี้ทางด้านทิศตะวันออกนั้น ได้กลายสภาพเป็นคูน้ำเหลือให้เห็นอยู่ส่วนหนึ่ง

          สิ่งสำคัญในวัด

          อุโบสถ ขนาดไม่ใหญ่โตนักถ้าเทียบกับวัดสมัยอยุธยาตอนต้น กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๔.๒๐ เมตร หันหน้าไปทางทิศเหนือ มีมุขหน้าและมุขหลังก่อเป็นชาลายกพื้นขึ้นมา มีเสาเหลี่ยมย่อมุมรองรับหลังคามุข ปัจจุบันเหลืออยู่ด้านละ ๑ ต้น ผนังด้านหน้าอุโบสถมีประตู ๓ ประตู ประตูกลางขนาดกว้าง ๑.๖๕ เมตร สูง ๓.๗๐ เมตร อยู่ตรงกลางมุขหน้า ไม่มีบันไดทางขึ้นไปสู่ประตูนี้จากด้านหน้า มีแต่บันไดด้านในลงไปยังพื้นอุโบสถ ซุ้มประตูเป็นปูนปั้นทรงปราสาท ส่วนประตูอีก ๒ ประตูอยู่ทางด้านข้าง มีขนาดกว้าง ๑.๑๒ เมตร สูง ๒.๙๐ เมตร ทั้งสองข้างมีบันไดทางขึ้นอยู่หน้าประตู ซุ้มประตูด้านข้างนี้ เป็นปูนปั้นทรงบันแถลง มีลวดลายปูนปั้นประดับอยู่ตรงกลาง ส่วนผนังด้านหลังอุโบสถมีแต่ประตูข้าง ๒ ประตู ขนาดใกล้เคียงกับประตูด้านหน้าและตั้งอยู่ในแนวตรงกัน ผนังอุโบสถด้านข้างเจาะช่องหน้าต่างด้านละ ๗ ช่อง ขนาดกว้างช่องละ ๙๐ เซนติเมตร สูง ๒.๒๐ เมตร ซุ้มหน้าต่างเป็นทรงบันแถลงเช่นเดียวกัน และอยู่ในระดับเดียวกันกับซุ้มประตูข้างกรอบประตูหน้าต่างก่อขอบซ้อน ๒ ชั้นประดับลายปูนปั้น รับกันกับซุ้มซึ่งเป็นซุ้มสองชั้นซ้อนครอบกัน อย่างที่เรียกว่าซุ้มลดฐานรับกรอบหน้าต่างทำเป็นฐานสิงห์รับกันกับฐานอุโบสถ ภายในอุโบสถมีพระประธาน เป็นพระปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศเหนือประดิษฐานอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูน ไม่มีเสารองรับเครื่องบนอย่างที่มีในอุโบสถสมัยอยุธยาตอนต้น ทั้งนี้เนื่องจากอุโบสถมีขนาดเล็กลง และมีเทคนิคการก่อสร้างใหม่ๆ ที่ค่อยๆ วิวัฒนาการไปตามยุคสมัย จากความรู้และประสบการณ์ของช่างผสมกับความรู้ทางเทคโนโลยีที่ได้รับมาจากประเทศตะวันตกที่เข้ามามีความสัมพันธ์ทางการค้า ตลอดจนเข้ามามีบทบาทในราชสำนักสมัยหลัง
         รอบอุโบสถยังมีแนวฐานใบเสมาและมีใบเสมาเหลืออยู่บ้างแต่แตกหักชำรุด นอกแนวเสมาออกไปยังมีแนวกำแพงแก้วอยู่ทางทิศใต้และทิศตะวันตก

          เจดีย์ มีอยู่ ๒ องค์ องค์หนึ่งตั้งอยู่หน้าอุโบสถ ขนาดฐานกว้างด้านละ ๙.๑๐ เมตร เป็นเจดีย์ทรงปรางค์ ยอดหักล้มอยู่ข้างฐานด้านหน้าอุโบสถ อีกองค์หนึ่งตั้งอยู่ถัดออกไปด้านหน้า ส่วนบนพังทลายไปไม่มีซากไว้ให้เห็น คงเหลือแต่ฐานย่อมุมขนาดกว้าง ๗.๔๐ เมตร แต่จากลักษณะของฐานสามารถสันนิษฐานได้ว่าสร้างในสมัยเดียวกับการสร้างวัดนี้

          วิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เยื้องมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอุโบสถ ขนาดกว้างยาวประมาณ ๙ x ๒๕ เมตร คงเหลือผนังอยู่เพียงบางส่วน

          วัดบรมพุทธารามจัดเป็นโบราณสถานที่สำคัญมีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ ในฐานะเป็นวัดกษัตริย์สร้าง และยังมีคุณค่าในเชิงศิลปะโบราณคดี เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่สามารถศึกษาถึงศิลปะและเทคโนโลยีทางด้านสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ได้เป็นอย่างดี

 

[๑]  นางจรรยา มาณะวิท ค้นคว้าเรียบเรียง

[๒]  กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒ (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา,๒๕๑๖), หน้า ๑๔๐.

[๓]  กรมศิลปากร, ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๓. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางทองแถม กมลพันธุ์ วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๑๕ ), หน้า ๑๑๖.

[๔]  บรรจบ เทียมทัด, “วัดบรมพุทธารามและวัดสิงหาราม” พระราชวังและวัดโบราณในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายจำรัส เกียรติก้อง วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๑), หน้า ๖๒.

[๕]  วัดดุสิตเป็นวัดสำคัญในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. ๒๑๙๙ - ๒๒๓๓) เป็นที่ตั้งตำหนักเจ้าแม่วัดดุสิตพระนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์ ผู้เป็นมารดาของพระยาโกษาปานและโกษาเหล็ก เมื่อถึงแผ่นดินพระเจ้าเสือ (พ.ศ. ๒๒๔๖-๒๒๕๑) อัครมเหสีของพระเพทราชา ก็ได้ทูลลาออกไปตั้งพระตำหนักอยู่ในที่ใกล้พระอารามวัดดุสิตอันเป็นที่พระตำหนักมาแต่ก่อนครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์

[๖]  น.ณ ปากน้ำ, (นามแฝง) ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา (กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ,๒๕๒๙), หน้า ๑๔๑.

[๗]  วัดกุฎีดาวตั้งอยู่นอกเกาะเมือง ได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยพระเจ้าบรมโกศเมื่อยังเป็นกรมพระราชวังบวร ในแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๕๔

[๘]  บรรจบ เทียมทัด. เรื่องเดิม. หน้าเดียวกัน

[๙]  บรรจบ เทียมทัด. เรื่องเดิม. หน้า ๖๓

 

 

 

 วิดีทัศน์

 

 แผนที่ : การเดินทาง