ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

ประวัติ

 

 

          อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นภูเขาไฟเก่าที่หมดพลังแล้ว อยู่ในเขตตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ๓๗๒ กิโลเมตร  มีพื้นที่ ๔๕๑ ไร่ ๑๑ ตารางวา

 

hp09 003

 

        จากศิลาจารึกและหลักฐานสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่พบภายในบริเวณปราสาทหินเขาพนมรุ้ง และที่เชิงเขาด้านทิศใต้ แสดงว่า พื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๕ โดยกษัตริย์ของอาณาจักรเขมรโบราณ ทรงจัดผู้ปกครองชุมชนเป็นผู้ดูแลเรื่อยมา สิ่งก่อสร้างที่ปรากฏ ได้แก่ ปราสาทอิฐ ๒ หลังบนเขาพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำ
         ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ได้มีการก่อสร้างปราสาทประธานของปราสาทหินเขาพนมรุ้งขึ้น ศิลาจารึกได้กล่าวถึงชื่อของ “นเรนทราทิตย์” โดยมี “หิรัณยะ” ผู้เป็นโอรสเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง นอกจากนี้ ภายในบริเวณปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ยังพบสิ่งก่อสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ.๑๗๒๔ - ๑๗๖๒) ได้แก่ บรรณาลัยและพลับพลา รวมทั้งอโรคยาศาล (โรงพยาบาล) และธรรมศาลา (ที่พักคนเดินทาง) ที่สร้างอยู่บริเวณเชิงเขาพนมรุ้ง
        จากหลักฐานต่างๆ ดังกล่าว รวมทั้งจากลักษณะของบาราย (สระน้ำ) ขนาดใหญ่ที่พบ แสดงให้เห็นว่า พื้นที่บริเวณนี้น่าจะมีการอยู่อาศัยของคนอย่างหนาแน่น เพียงแต่ว่า ไม่พบร่องรอยของคูน้ำคันดิน ที่แสดงความเป็นเมือง ที่บริเวณนี้ จึงอาจอธิบายได้ว่า ชุมชนในบริเวณปราสาทหินเขาพนมรุ้งตั้งอยู่ ในเส้นทางผ่านจากเมืองพระนคร ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรเขมรโบราณ ไปยังเมืองพิมาย ทั้งนี้อาศัยหลักฐานที่พบคือจารึกปราสาทพระขรรค์ และจารึกปราสาทตาพรหมในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
      หลังจากสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ อาณาจักรเขมรโบราณก็เริ่มเสื่อมอำนาจลง อาณาจักรสุโขทัยและอยุธยาได้ก่อตัวขึ้น และเข้ามามีอำนาจแทน ปราสาทหินเขาพนมรุ้งจึงเปลี่ยนสถานะจากศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย มาเป็นวัดในพระพุทธศาสนาแบบมหายาน ที่นิยมกันในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
     พงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า เมื่อ พ.ศ.๑๙๘๑ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ทรงเตรียมกองทัพจะยกมาตีเมืองพิมายและเมืองพนมรุ้ง  ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็มีการกล่าวถึงเมืองนางรอง ซึ่งอยู่ห่างจากปราสาทหินเขาพนมรุ้งไปทางด้านทิศตะวันตก ๒๐ กิโลเมตร โดยยังคงปรากฏหลักฐานของคูเมืองอยู่ที่เมืองนั้น
       เมืองนางรองได้รับการยกเป็นเมืองชั้นจัตวาในสมัยรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันคืออำเภอนางรอง ขึ้นกับจังหวัดบุรีรัมย์ ส่วนพื้นที่บริเวณปราสาทหินเขาพนมรุ้งขึ้นกับอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดเดียวกัน

 

hp09 001  hp09 002

 

        ปราสาทหินเขาพนมรุ้งได้รับการออกแบบตามคติความเชื่อและความนิยมในศิลปะเขมร กล่าวคือ เน้นความสำคัญของส่วนประกอบเข้าหาจุดศูนย์กลาง คือ ปรางค์ประธาน โดยปรับลักษณะการก่อสร้างให้เข้ากับสภาพของภูมิประเทศที่เป็นแนวลาดชันของเขาพนมรุ้ง
       ภายหลังจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จฯมาทอดพระเนตรปราสาทหินเขาพนมรุ้ง เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ และ พ.ศ.๒๔๗๒ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานใน พ.ศ.๒๔๗๘ ต่อมาได้มีการบูรณะปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ด้วยวิธีอนัสติโลซิส เริ่มการบูรณะใน พ.ศ.๒๕๑๔ และดำเนินการแล้วเสร็จใน พ.ศ.๒๕๓๑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๑