ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

ประวัติ

hp07 019

       อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดกำแพงเพชร ได้รับการประกาศเป็น “มรดกโลก” ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ภายใต้ชื่อว่า "เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร" (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns) เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๔
       กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการคุ้มครองและดูแลโบราณสถานเมืองกำแพงเพชรและเมือนครชุม และได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘ และ พ.ศ.๒๔๘๐  โดยในปี พ.ศ.๒๕๐๘ ได้เริ่มดำเนินการในส่วนของการขุดแต่ง บูรณะ และพัฒนาโบราณสถาน เป็นครั้งแรก  และในปี พ.ศ.๒๕๑๑ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดขอบเขตอีกครั้งหนึ่ง

 

hp07 020
        ปี พ.ศ.๒๕๒๕ กรมศิลปากรได้บรรจุงานปรับปรุงโบราณสถานเมืองกำแพงเพชรในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ (๒๕๒๕ - ๒๕๒๙) ภายใต้ชื่อโครงการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร มุ่งเน้นการอนุรักษ์และพัฒนากลุ่มโบราณสถานทั้งภายในเมืองเนื้อที่ ๕๐๓ ไร่ และเขตอรัญญิก เนื้อที่ ๑,๖๑๑ ไร่ เพื่อป้องกันมิให้ถูกทำลายหรือเสื่อมค่า พัฒนาโบราณสถาน และบริเวณเพื่อให้เป็นแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม เกิดความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติ

 

hp07 001

 

       กรมศิลปากรได้ดำเนินการเปิดอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๔ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
       อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ตั้งอยู่ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร  อยู่ในบริเวณป่าธรรมชาติ ซึ่งยังคงบรรยากาศพุทธสถานเขตอรัญวาสีดังเช่นในอดีต ดังนั้นคณะกรรมการมรดกโลกแห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก จึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองสุโขทัยและเมืองบริวารคือ เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองกำแพงเพชรเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี พ.ศ.๒๕๓๔

 

hp07 011
       งานสถาปัตยกรรมของโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร มีลักษณะโดดเด่น คือการใช้วัสดุศิลาแลง เป็นส่วนสำคัญในการก่อสร้าง และรูปแบบทางศิลปกรรมทั้งหมดเป็นของแท้ดั้งเดิมที่แสดงถึงฝีมือและความเชื่อของบรรพชนในอดีต นอกจากจะหลงใหลกับสิ่งที่เห็นแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๙ อีกด้วย

 

hp07 009
       อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรแบ่งออกเป็นโบราณสถานฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ซึ่งใช้วัสดุก่อสร้างที่แตกต่างกัน ด้านตะวันออกของแม่น้ำปิงเป็นที่ตั้งเมืองกำแพงเพชร โบราณสถานจะสร้างด้วยศิลาแลงและมีขนาดใหญ่ ส่วนโบราณสถานฝั่งตะวันตกคือเมืองนครชุมก่อสร้างด้วยอิฐและมีขนาดเล็ก แต่รูปแบบศิลปะที่ปรากฏมีลักษณะร่วมสมัยระหว่างสุโขทัยและอยุธยา นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานนอกเมืองกำแพงเพชร หรือเขตอรัญญิก ซึ่งเป็นที่อยู่ของสงฆ์ที่มุ่งในการปฎิบัติวิปัสสนาธรรม อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ระยะทาง ๒ กิโลเมตร สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานมีดังนี้

       โบราณสถานฝั่งตะวันออกอยู่ในเขตกำแพงเมือง ได้แก่ วัดพระแก้ว วัดพระธาตุ สระมน ศาลพระอิศวร และกำแพงเมืองกำแพงเพชร
       โบราณสถานบริเวณนครชุมหรือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ได้แก่ วัดพระบรมธาตุ วัดซุ้มกอ กำแพงป้องทุ่งเศรษฐี วัดเจดีย์กลางทุ่ง และวัดหนองพิกุล
       โบราณสถานนอกเมือง หรือเขตอรัญญิก ได้แก่ วัดพระนอน วัดพระสี่อิริยาบถ วัดพระสิงห์ วัดช้างรอบ วัดอาวาสใหญ่  บ่อสามแสน และวัดช้างรอบ