วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ ตั้งอยู่บ้านชีทวน หมู่ที่ 2 ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า "วัดศรีนวล" ซึ่งในแต่เดิมใช้เขียนว่า "วัดสีนวน" ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด วัดนี้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน โดยมีเรื่องกล่าวขานต่อกันมาว่าได้มี "ญาคูตีนก้อม" ได้พาญาติโยม สร้างวัดขึ้นก่อน ต่อมายายสีนวนได้บริจาคที่ดินให้เพิ่มขึ้นเพื่อขยายอาณาเขตของวัดให้กว้างขวางกว่าเดิม ชื่อวัดจึงได้เรียกว่า "วัดสีนวน" หรือวัดศรีนวลในภายหลัง และคำว่า "แสงสว่างอารมณ์" ได้มาเพิ่มเติมขึ้นภายหลังการก่อสร้างศาสนสถานของวัดในขณะที่พระอุปัชฌาวงค์ เป็นเจ้าอาวาส (พ.ศ. 2430 - 2492) การก่อสร้างที่สำคัญได้แก่ สิม (โบสถ์) และตัวธรรมมาสน์สิงห์เทินบุษบกที่ตั้งอยู่ในศาลาการเปรียญ ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกและแตกต่างจากธรรมาสน์โดยทั่วไปมาก สร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2468 - 2470 ผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้างเป็นช่างชาวญวนหรือเรียกกันว่า "แกว" ชื่อ "เวียง" ส่วนการตกแต่งภายนอก ภายในและรายละเอียดต่าง ๆ ท่านอุปัชฌาวงค์เป็นผู้ทำเอง

          ศาลาวัดสีนวลแสงสว่างอารมณ์ ทำด้วยไม้ทรงไทยชั้นเดียว ยกพื้น หลังคาในสมัยก่อนนั้นมุงด้วยไม้ (แป้นเกล็ด) ปัจจุบันมุงด้วยสังกะสี มีหน้าจั่ว 2 ด้านทำด้วยไม้ ส่วนล่างของจั่วทำเป็นลูกบัว ส่วนบนทางทิศเหนือมีไม้แกะสลักเป็นพระพุทธรูปนั่งประทับช้างสามเศียร ส่วนหน้าจั่วทางทิศใต้เป็นพุทธรูปแกะสลักยืนบนมารแบกใบระกาเป็นหัวนาค ส่วนช่อฟ้าเป็นไม้แกะสลักไว้บนจั่ว ตัวอาคารเปิดโล่ง 3 ด้าน เสาไม้ 12 เหลี่ยม มีบันไดขึ้นทางทิศเหนือ ฝ้าเพดานและคอสองมีภาพเขียนสี    

บริเวณฝ้าเพดานและคอสองของศาลามีภาพเขียนสี ซึ่งเป็นการเขียนลวดลายสีที่สวยงาม ลักษณะของจิตรกรรมเป็นจิตรกรรมที่ใช้เทคนิคสีฝุ่นเขียนบนพื้นไม้ประดับอยู่ฝ้าเพดานและคอสองของการเปรียญ แบ่งออกเป็น 4 ห้อง แต่ละห้องเขียนลวดลายและเรื่องราวต่าง ๆ ประกอบด้วย

          ห้องที่ 1 เขียนภาพดวงดาราขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง มีนาคพันอยู่โดยรอบส่วนพื้นที่ด้านข้างเหลือทั้งสองด้านเขียนเป็นรูปบุคคลอยู่ท่าทางการดันวงล้อหรือวงกลมโดยมีรูปหัวมังกรพ่นลายพฤกษาประกอบอยู่ด้วย

          ห้องที่ 2 ลักษณะพื้นที่เขียนจิตรกรรม มีทั้งบนฝ้าเพดานและเขียนบนฝ้าหลังคาสังกะสี บนฝ้าเพดานเขียนเป็นรูปราหูลายดอกไม้ ใบไม้ และรูปสัตว์ ส่วนฝ้าสังกะสีแบ่งเป็นช่องเล็ก ๆ เขียนเป็นรูปลายดวงดาราที่มีภาพบุคคล ต้นไม้หรือสัตว์ประกอบ รูปเสือกินคน รูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น ม้า กระต่าย เต่า เป็นต้น

          ห้องที่ 3 มีลายดวงดาราขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยรูปเด็กมีปีกคล้ายกามเทพเกี่ยวพันกันเป็นวงกลม บริเวณข้างของดวงดาราเขียนเป็นรูปพญานาค 2 ตัว พันรัดบุคคลอยู่ ซึ่งพญานาคพ่นออกมาเป็นลายดอกไม้ ใบไม้ มีรูปเต่าและม้ามังกรอีกข้างมีรูปบุคคลนั่งอยู่บนพญานาค 2 ตัว โดยอยู่ในท่านั่งอุ้มเด็กถือดอกไม้ไว้บนศีรษะ นอกจากนี้ยังมีรูปพญานาคและรูปหงส์ประกอบอยู่ด้วย

          ห้องที่ 4 เขียนรูปดวงดาราขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางมีรูปนางฟ้าหรือเทพธิดากำลังฟ้อนรำ ลักษณะหน้าตกเป็นสาวญวน ส่วนด้านข้างลายดวงดาราเป็นรูปเทพและยักษ์อยู่ในลักษณะต่อสู้กัน

          งานจิตรกรรมบนฝ้าเพดานศาลาการเปรียญ วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์นี้ พบว่าสีที่นิยมเขียนเป็นหลักคือสีฟ้าคราม สีเหลือง สีแดง สีเขียว สีดำ ลักษณะการเขียนจัดว่ามีความสวยงามตามลักษณะของช่างพื้นเมืองศิลปะแบบญวน

          ธรรมาสน์สิงห์เทินบุษบกตั้งอยู่กลางศาลาการเปรียญ ประมาณว่าคงจะสร้างราว พ.ศ. 2468 - 2470 ซึ่งคงจะสร้างขึ้นสมัยเดียวกับการสร้างศาลาการเปรียญ ผู้ออกแบบและดำเนินการสร้างเป็นช่างชาวญวนคนหนึ่ง ชื่อ "เวียง" ส่วนการตกแต่งภายนอก ภายในและรายละเอียดต่าง ๆ ท่านอุปัชฌาวงค์ เป็นผู้ทำเอง ตัวธรรมาสน์เป็นรูปสิงห์เทินบุษบกก่อด้วยอิฐเขียนสีฝุ่นประดับอย่างสวยงาม ส่วนของหลังคาสร้างด้วยไม้ซ้อนเป็น 3 ชั้น

          ตัวสิงห์ทำด้วยปูนปั้นเป็นรูปสิงห์ ภายในกลวงอยู่ในลักษณะท่ายืน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฐานชั้นแรกของธรรมาสน์เป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 1.80 - 2.80 เมตร บริเวณล่างหน้ากระดานซึ่งรองรับขาสิงห์ มีการประดับด้วยประติมากรรมรูปต่าง ๆ โดยด้านหน้าของฐานหน้ากระดาน เป็นประติมากรรมพุทธรูปปูนปั้น รูปสตรีท่าอุ้มเด็ก รูปชายแก่พุงป่องยืนถือไม้เท้าและรูปช้าง ซึ่งประติมากรรมเหล่านี้คงแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับทศชาติชาดก เรื่องพระเวสสันดร นอกจากนี้บริเวณฐานหน้ากระดานยังมีประติมากรรมอื่น ๆ อีก อาทิเช่น รูปบุคคล เทวดา รวมทั้งรูปสัตว์ ซึ่งได้แก่ ม้า งู จระเข้ เป็นต้น

          ถัดไปจากฐานหน้ากระดานซึ่งเป็นตัวสิงห์ซึ่งทำด้วยปูนปั้น ตัวสิงห์ประดับปูนปั้นแบบนูนต่ำทำเป็นลวดลายพรรณพฤกษาและเขียนสีฝุ่น ที่แผงคอและดวงตาทั้งสองประดับด้วยกระจก ส่วนบนของสิงห์มีธรรมาสน์รูปสี่เหลี่ยมสูงจากพื้น 1.40 เมตร มีบันไดขึ้นทางทิศใต้ บันไดเป็นไม้แกะสลักรูปพญานาค ส่วนตัวธรรมาสน์พบว่าผนังทั้งสี่ด้านเจาะเป็นช่องโค้ง บริเวณผนังประดับด้วยลวดลายปูนปั้นนูนต่ำเขียนสี

          ทิศเหนือ โดยผนังธรรมาสน์ด้านซ้ายของตัวสิงห์ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นเขียนสีเป็นรูปสัตว์ท่ามกลางพรรณพฤกษา รูปเทวดาถือดอกไม้ รูปเสือคาบดอกไม้และลายนกเกาะอยู่บนตัวมังกร

          ทิศใต้ ด้านขวาตัวสิงห์ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นเขียนสีเป็นรูปนกท่ามกลางดอกไม้ ใบไม้และรูปทหารแต่งกายเต็มยศอยู่ในท่าพนมมือ และทำความเคารพอย่างทหาร

          ทิศตะวันออก ส่วนผนังด้านหน้าของธรรมาสน์ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นนูนต่ำรูปดอกบัว รูปนก รูปมังกรและบุคคลชาวต่างประเทศ ประกอบด้วยชาวจีนไว้ผมเปียสวมเสื้อผ้าแบบจีนกำลังถือดอกไม้และรูปบุคคลแต่งกายสวมเสื้อ นุ่งโสร่งโพกศีรษะอย่างพม่าอยู่ในท่าพนมมือถือดอกไม้ นอกจากนี้ยังมีรูปชาย-หญิง ชาวต่างชาติซึ่งคงจะเป็นชาวตะวันตก

          ทิศตะวันตก ด้านหลังของตัวธรรมาสน์เป็นลวดลายปูนปั้นรูปนกเกาะอยู่บนกิ่งไม้ รูปบุคคลยืนบนตัวช้างและรูปเทวดายืนบนศีรษะม้า สำหรับผนังส่วนบนของหลังธรรมาสน์ ช่องหน้าต่างมีฉลุไม้ด้านนอกเขียนสีทอง ด้านในเขียนสีฝุ่น มุมทั้ง 4 มุมด้านนอกของผนังทำเป็นเสากลมมีการประดับปูนปั้นรูปมังกรพันเสา

          ส่วนบนของธรรมาสน์เป็นเครื่องไม้ โดยทำเป็นชั้น ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 3 ชั้น มีการฉลุลายและแกะสลักลวดลายต่าง ๆ ซึ่งลวดลายที่แกะสลักมีทั้งรูปสัตว์ในวรรณคดี เช่น หงส์ แกะสลักเป็นเทวดา นก ดอกไม้ ใบไม้ รวมทั้งลวดลายที่ใช้ประกอบเป็นศิลปะลายไทย ลวดลายเหล่านี้มีการตกแต่งด้วยการปิดทองและเขียนสีบนพื้นที่สีแดง บางส่วนประดับด้วยกระจกสี

         ส่วนรอบธรรมาสน์สิงห์ ล้อมรอบด้วยกำแพงไม้ระแนงเขียนสี มีประตูทางเข้าทางทิศใต้ เหนือขอบประตูมีหน้าบันแกะไม้เป็นรูปพระพุทธรูปางมารวิชัยภายในกรอบพุทธรูปมีนาคขนดหางพันกันขึ้นไปที่กำแพงด้านทิศใต้มีเสาสูงมุมละต้น บนยอดเสาประดับด้วยรูปแกะสลักไม้ลอยตัวเป็นรูปนกเป็ด (หรือน่าจะเป็นหงส์) ใช้สำหรับแขวนตุงบูชา

          บ้านคูเมืองตั้งอยู่ในเขตคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเนินดินที่เป็นแหล่งโบราณคดีมีอาณาเขต จำนวน 3 หมู่บ้านได้แก่ หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 7 มีเนื้อที่ประมาณ 350x600 เมตร บ้านคูเมืองตั้งอยู่ห่างจากอำเภอวารินชำราบมาทางทิศใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร


สภาพโดยรวมของโบราณสถานภายหลังบูรณะ

การศึกษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมโบราณสถานโนนแก

          อาคารหมายเลข 1 เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด9x12.50 เมตร โครงสร้างฐานล่างก่อด้วยศิลาแลง ก่อสูง 50 เซนติเมตร จากระดับพื้นผิวดินเดิม แกนอาคารด้านยามวางอยู่ในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก อันเป็นแกนทิศสำคัญของโบราณสถานภายในขอบเขตของฐานมีแนวเสาไว้วางอยู่ตามแกนทิศสำคัญนี้อยู่ 4 แถวๆละ 6 ต้น เสาแถวในรองรับหลังคาเครื่องบน เสาแถวนอกรองรับโครงสร้างหลังคาปีกนก ผนังทั้ง 4 ด้าน เปิดโล่ง มีบันไดทางขึ้นด้านหน้า (ด้านทิศตะวันออก) อาคารหมายเลข 1 นี้น่าจะใช้ประโยชน์เป็นวิหารโถง หลังคาเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ที่มีรูปแบบเหมือนกับกระเบื้องดินเผาที่พบในกลุ่มโบราณสถานแบบศิลปะเขมรโดยทั่วไป


แนวกำแพงด้านทิศตะวันตก

          อาคารหมายเลข2 เป็นอาคารแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 4.50x10 เมตร สันนิษฐานว่ามีความสูง 6.30 เมตร โครงสร้างฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงผิวภายนอกฉาบปูน ก่อขึ้นสูง 1 เมตร จากผิวดิน ด้านหน้ามีบันไดทางเข้าโดยก่อเป็นห้องมุข มีผนัง 3 ด้าน เปิดโล่ง ยกเว้นทางด้านทิศตะวันตกจะเป็นผนังไม้ มีประตูทางเข้าสู่ตัวอาคาร มีผนัง 4 ด้าน สร้างด้วยไม้ โครงสร้างหลังคาเป็นเครื่องไม้รองรับกระเบื้องมุงหลังคาดินเผา ซึ่งหลังคาจะรองรับด้วยเสาไม้ภายในอาคารจำนวน 2 แถว แถวละ 4 ต้น และมุขด้านหน้ามีเสารองรับหลังคาอีก 2 ต้น สันนิษฐานว่าผนังด้านหลังของอาคารจะสร้างติดกับแท่นฐานชุกชี ประดิษฐานพระประธาน โดยก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน สูงประมาณ 70 เซนติเมตรซึ่งมีลักษณะอาคารที่เรียกว่า “สิมทึบ” คือสิมที่ทำผนังปิดทึบทั้ง 4 ด้าน


แนวกำแพงด้านทิศตะวันออก

          อาคารหมายเลข 3 เป็นอาคารแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 6x9.80เมตร สันนิษฐานว่ามีความสูง 6.70 เมตร สร้างหันด้านหน้าไปทางทิศตะวันตก ชนกับด้านหน้าของอาคารหมายเลข 2 โครงสร้างฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูนผนังก่อด้วยศิลาแลงหรืออิฐฉาบปูน ด้านหน้ามีบันไดทางเข้าโดยก่อเป็นมุข มีผนังสามด้านเปิดโล่ง ยกเว้นทางด้านตะวันออก เป็นผนังของซึ่งมีประตูทางเข้าสู่อาคาร ผนังสามด้านของอาคารก่อทึบมีช่องลมอยู่ทางด้านเหนือและด้านใต้ โครงสร้างหลังคาเป็นเครื่องไม้รองรับกระเบื้องมุงหลังคาดินเผา ซึ่งหลังคาจะรองรับด้วยเสาไม้ภายในอาคารอาคารจำนวน 2 แถว แถวละ 3 ต้น และทางด้านหลังติดกับฐานพระจะมีเสาเพิ่มอีก 1 ต้น ตรงกลาง ทางด้านหน้ามีเสา 4 ต้น รองรับโครงหลังมุข

          อาคารหมายเลข4 เป็นซากโบราณสถานที่พังทลายหมดแล้ว เนื่องจากการลักขุดและดัดแปลงโบราณสถานในสมัยหลัง จึงไม่สามารถศึกษารูปแบบเดิมได้ อย่างไรก็ดีหลุมขุดตรวจฐานรากอาคารพบว่ามีร่องรอยการก่อสร้างฐานรากในสมัยเดียวกับอาคารหมายเลข 1 จึงอาจกล่าวได้ว่า มีการก่อสร้างศาสนสถานประธาน ขึ้นในกลุ่มซากปรักหักพังของหินแลงได้ ประกอบกับตำแหน่งที่พบฐานรากเป็นตำแหน่งกึ่งกลางของแกนหลักของโบราณสถานด้วย


ประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก

          รูปแบบของการสร้างอาคารวิหารด้านข้างปราสาทประธาน และมีกำแพงล้อมรอบนี้อาจเปรียบเทียบได้กับปราสาทโดนตรวล อ.กันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ นับเป็นปราสาทหลังเดียวที่มีปราสาทประธานและวิหารด้านข้าง ล้อมรอบด้วยกำแพงหิน สร้างขึ้นในราว พ.ศ.1545 นอกจากนี้ยังพบว่าปราสาทประธานสร้างด้วยหินแลงปนอิฐเหมือนกับที่โนนแก โดยมีส่วนฐานจนถึงเรือนธาตุ บางส่วนเป็นหินแลงปนอิฐ

          การขุดค้นพบโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับศิลปะเขมร คือเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์ซ่ง หรือที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มชนในวัฒนธรรมเขมรที่มาใช้พื้นที่เหนือวัฒนธรรมแบบทวารวดี เพื่อสร้างศาสนสถานสมัยแรกที่โนนแกนี้ น่าจะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มชนที่ปราสาทโดนตรวลด้วย


แนวกำแพงด้านทิศใต้

          จากหลักฐานที่พบใบเสมาหินจำนวน 7 คู่ วางหันหน้าเข้าหาอาคารหมายเลข 2 และ 3 และใบเสมา 1 คู่ วางตำแหน่งซ้อนอยู่บนแนวอาคารหมายเลข 1 คงจะหมายถึงการเลิกใช้ประโยชน์จากอาคารหมายเลข 1 และให้ความสำคัญกับอาคารหมายเลข 2 และ 3 แทน ซึ่งมีลักษณะอาคารที่เรียกว่า “สิม” ที่พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

          โบราณสถานอีกแห่งหนึ่งก่อสร้างด้วยอิฐ ชาวบ้านเรียกธาตุอูบมุง ห่างออกไปจากหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร สภาพของโบราณสถานเหลือแต่ส่วนฐานเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา เคยมีการลักลอบขุดหาของโบราณหลายครั้ง พบพระพุทธรูป พระพิมพ์จำนวนมาก จากการสอบถาม พ่อใหญ่บุญมา คำพาทู เล่าให้ฟังว่า ท่านเคยเห็นธาตุอูบมุงก่อนที่จะเหลือฐานในปัจจุบันว่า มีความสูงประมาณ 1 เส้น 5 วา และมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่นับถือของชาวบ้าน จึงไม่ยอมให้มีการลักลอบขุดอีก โบราณวัตถุต่างๆที่พบที่ธาตุอูบมุงน่าจะเป็นศิลปะลาว พุทธศตวรรษที่ 23-24 เป็นสมัยที่บรรพบุรุษ ของราษฎรคูเมืองมาอาศัยอยู่แล้ว แต่จากการสำรวจพบวัสดุที่ใช้เป็นอิฐ เมื่อสังเกตก้อนอิฐแต่ละก้อนพบว่ามีการขัดฝนที่หน้าอิฐแต่ละก้อน ลักษณะเช่นนี้ พบทั่วไปตามปราสาทอิฐทั้งหลายในวัฒนธรรมเขมร นอกจากนี้ยังพบหินทรายตกหล่นอยู่ทั่วไปด้วย สันนิษฐานในชั้นต้นว่าธาตุอูบมุงนี้จะมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบปราสาทอิฐเขมร ซึ่งน่าจะร่วมสมัยกับคันดินรูปสี่เหลี่ยมของเมืองโบราณและโบราณสถานโนนแก


แผนที่