ชื่อธาตุตาดทอง

          ประวัติพระธาตุตาดทอง ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๒๔ และอาจจะมีความเกี่ยวเนื่องกับนิทานพื้นบ้านเล่าสืบกันมาว่า เมื่อผู้คนในแถบอำเภอรัตนบุรีทราบข่าวการบูรณะพระธาตุพนม จึงพร้อมใจกันรวบรวมวัตถุมงคลสิ่งมีค่าเพื่อนำไปบรรจุไว้ในพระธาตุพนม แต่เมื่อเดินทางถึงบ้านตาดทองได้พบกับชาวบ้านสะเดา ตำบลตาดทอง ที่ไปช่วยบูรณะพระธาตุเดินทางกลับมาบ้านเพราะการบูรณะพระธาตุพนมได้เสร็จสิ้นแล้ว ผู้คนเหล่านั้นจึงพร้อมใจกันสร้างเจดีย์บรรจุของมีค่าที่ตนนำมา ชาวบ้านสะเดาจึงนำถาดทองที่ใช้อัญเชิญของมีค่านำไปบรรจุในพระธาตุพนม มารองรับของมีค่าที่ชาวอำเภอรัตนบุรีที่จะนำไปบรรจุไว้ในเจดีย์ที่กำลังสร้าง จึงเรียกพระธาตุตาดทองหรือถาดทอง


ด้านทิศตะวันออก

         ลักษณะสถาปัตยกรรมพระธาตุตาดทอง เป็นเจดีย์ทรงมณฑปยอดบัวเหลี่ยมในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส สร้างก่ออิฐถือปูน ส่วนฐานตอนล่างเป็นฐานเขียงรองรับชั้นชุดฐานบัวท้องไม้ลูกแก้วอกไก่ ส่วนมณฑปทำย่อเก็จมีซุ้มพระทั้ง ๔ ด้าน เดิมคงมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ ยอดซุ้มโค้งแบบซุ้มหน้านางภายในประดับปูนปั้นลายพรรณพฤกษา เสาซุ้มทำลายแสงตาเวน(ตะวัน)ประดับกระจก ส่วนยอดเป็นบัวเหลี่ยมทำย่อเก็จเป็นรูปบัวเหลี่ยมมีเครื่องยอดซ้อนกัน ๓ ชั้นยอดแหลม โดยรอบมีใบเสมาสมัยทวารวดี และกลุ่มเจดีย์รายจำลองทรงบัวเหลี่ยม ด้านหน้าพระธาตุตาดทองมีอูบมุงแบบพื้นถิ่นอีสานในผังเหลี่ยมจัตุรัส ลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมหลังคาโดมเอนลาดสอบเข้าหากัน สันหลังคาประดับปูนปั้นรูปนาค ยอดหลังคาในตอนกลางเป็นเจดีย์ขนดเล็ก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยฝีมือช่างพื้นถิ่นอีสาน

 
             ด้านทิศเหนือ                                            พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายในอูบมุง

          

          เอกลักษณ์ของพระธาตุตาดทอง คือ การออกแบบรูปทรงเจดีย์ที่สวยงาม และเป็นพระธาตุแห่งหนึ่งที่อาจจะเกี่ยวข้องนิทานเรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ อีกทั้งมีประวัติอ้างอิงเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสร้างพระธาตุพนม

          กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานพระธาตุตาดทอง ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙ และประกาศกำหนดเขตที่ดิน ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๒ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๑ งาน ๕๙ ตารางวา โบราณสถานแห่งนี้ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ.๒๕๔๕ ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย


ส่วนยอดธาตุ


ส่วนเรือนธาตุ


ส่วนฐานธาตุด้านทิศเหนือ