ประวัติโบราณสถานดงศิลาแลง เป็นแหล่งโบราณคดีที่พิจารณาว่ามีอายุในพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ปัจจุบันชาวบ้านเรียกกันว่า ดงศิลาเลข

          ลักษณะทางกายภาพของดงศิลาแลง เป็นเนินดินกลมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว่า ๓๐๐ เมตร ในบริเวณพื้นที่พบใบเสมาสมัยทวารวดีที่กลางเนินโบราณสถาน โดยปักเป็นกลุ่มเรียงกัน ๓ ใบ ที่มุมทั้ง ๔ ของเนิน และบริเวณกึ่งกลางด้าน ๓ ด้าน นอกจากนี้ยังพบใบเสมาหินทรายสีแดง อีก ๖ ใบ บริเวณด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นหนองน้ำ ปัจจุบันนำไปเก็บรักษาไว้ที่วัดศรีฐานใน บ้านศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร

 

          ลักษณะรูปแบบใบเสมาที่พบ เป็นแผ่นหินทรายและศิลาแลง ถากและแต่งให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามียอดสอบเข้าหากันคล้ายกลีบบัว การประดับตกแต่งมีทั้งแบบที่เป็นแผ่นเรียบๆ กับแบบที่แกะสลักเป็นสันนูนขึ้นในตอนกลางและด้านข้างใบเสมา บ้างชิ้นแกะสลักรูปกลีบบัวในส่วนล่างสุดของใบเสมา ลักษณะเช่นเดียวกับใบเสมาที่บ้านตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดอัมพวันเหนือ และวัดศรีมงคลธาตุทอง สำหรับลักษณะการปักใบเสมาในดงศิลาแลง พบทั้งการปักแบบใบเดี่ยวและปักเป็นกลุ่ม มี ๒ - ๕ ใบ เรียงซ้อนกันไปในแนวเดียวกัน เพื่อแสดงขอบเขตและตำแหน่งของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกับการปักเสมาหินทรายในบริเวณรอบพระธาตุตาดทอง ที่บางจุดก็ปักเสมาใบเดียวแต่บางจุดก็ปักใบเสมาเป็นกลุ่ม

           ใบเสมารูปแบบต่างๆเหล่านี้ เป็นหลักฐานแสดงความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในวัฒนธรรมทวารวดี เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ในดินแดนภาคอีสาน มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้แสดงเขตศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา โดยปักล้อมรอบศาสนสถานเพื่อบอกขอบเขต หรืออาจสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่แทนสถูป เจดีย์ หรือพระพุทธรูป โดยมีทั้งที่ปักเป็นกลุ่มกระจายตามเนินดิน หรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งไม่มีทิศทางแน่นอน หรือปักประจำทิศด้วยการการปักเสมาเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม    

          เอกลักษณ์ของโบราณสถานดงศิลาแลง คือ การมีรูปแบบและวิธีการใช้งานของใบเสมาที่สะท้อนให้เห็นถึงคติความเชื่อดั้งเดิมในพื้นที่ และความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในดินแดนอีสาน เมื่อครั้งพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕

กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานดงศิลาแลง ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙ ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย