วัดทุ่งสะเดา(ธาตุลูกฆ่าแม่)


 

         วัดทุ่งสะเดามีประวัติการสร้างเจดีย์ ว่าสัมพันธ์กับนิทานพื้นบ้านเรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ที่เล่ากันในพื้นถิ่นอีสานว่าลูกชายคนหนึ่งได้ฆ่าแม่ของตน เพราะความหิวและความโกรธที่แม่นำข้าวมาส่งช้าและน้อยเกินไป แต่เมื่อความหิวและความโกรธคลายลง ประกอบกับข้าวที่แม่นำมาส่งที่ตนคิดว่ามีปริมาณน้อยนั้น ยังเหลืออยู่จึงเกิดความรู้สึกผิดที่ได้กระทำบาปกับแม่ จึงได้สร้างเจดีย์ขึ้นในบริเวณที่แม่เสียชีวิตเพื่อเป็นการไถ่โทษ ปัจจุบันชาวบ้านเรียกเจดีย์องค์นี้ว่า ธาตุลูกฆ่าแม่ ตั้งอยู่ภายในวัดทุ่งสะเดา นิทานพื้นบ้านที่มีเนื้อหาในลักษณะเช่นนี้ ยังถูกใช้เล่าประกอบประวัติพระธาตุตาดทองที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ธาตุก่องข้าวน้อย

           โบราณสถานสำคัญภายในวัดทุ่งสะเดา ประกอบด้วยเจดีย์ก่ออิฐถือปูน จำนวน ๒ องค์ ตั้งอยู่ใกล้กัน องค์แรกมีสภาพสมบูรณ์ องค์ที่สองเหลือเพียงส่วนฐาน จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบฐานแท่นบูชาของเจดีย์องค์ที่สองยื่นเข้าไปใต้ฐานเจดีย์องค์แรก อันเป็นหลักฐานว่า เจดีย์องค์ที่เหลือเพียงฐานนั้น ได้สร้างขึ้นมาก่อน ภายหลังพังทลายไปจึงมีการสร้างเจดีย์องค์ที่สองทับลงไปบนส่วนฐานของเจดีย์ นอกจากนี้ในปี พ.ศ.๒๕๒๕ ชาวบ้านยังได้ขุดพบโบราณวัตถุในไหจำนวน ๔ ไหใต้ฐานเจดีย์องค์แรก เป็นพระพุทธรูปไม้แกะสลัก พระพุทธรูปบุเงิน พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปตะกั่ว พระพุทธรูปดินเผาสีแดงชาดปิดทอง พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพิมพ์ เศษกระดูก กล้องยาสูบ และเครื่องถ้วยจีน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดทุ่งสะเดา

 

         ลักษณะสถาปัตยกรรมของเจดีย์ที่มีสภาพสมบูรณ์นั้น เป็นทรงบัวเหลี่ยมในผังแปดเหลี่ยม ตามแบบศิลปะพื้นถิ่นอีสาน กำหนดอายุในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ มีส่วนฐานเป็นชั้นหน้ากระดานขนาดเล็กเรียงลดหลั่นกัน รับฐานบัว และมีชั้นคล้ายบัวหงายขนาดใหญ่ ถัดขึ้นมาเป็นบัวแปดเหลี่ยมรับปลียอดและฉัตร อันเป็นลักษณะเจดีย์ที่นิยมสร้างในเมืองหลวงพระบางและเวียงจันทน์ด้วยเช่นเดียวกัน 

          เอกลักษณ์ของเจดีย์วัดทุ่งสะเดา หรือธาตุลูกฆ่าแม่ คือ การผูกนิทานพื้นบ้านให้เข้ากับประวัติความเป็นมาของเจดีย์ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานพระธาตุก่องข้าวน้อย วัดทุ่งสะเดา ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙ โดยเจดีย์องค์ที่มีสภาพสมบูรณ์(องค์ลูก)ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ.๒๕๕๕ ส่วนเจดีย์องค์ที่เหลือเพียงส่วนฐาน(องค์แม่)ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ.๒๕๓๗ ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย