ชื่อหอไตรวัดสระไตรนุรักษ์


หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์ ด้านทิศตะวันตก

         หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์ ตั้งอยู่ที่ บ้านนาเวียง หมู่ที่ 1 ตำบลนาเวียง อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร   ประวัติวัดสระไตรนุรักษ์ หรือวัดนาเวียง สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔ ตามคำบอกเล่าในท้องถิ่นว่าเกี่ยวข้องกับการอพยพของกลุ่มคนลาวเวียงจันทน์ที่มาพร้อมกับพระวอพระตา เสนาบดีของพระเจ้าสิริบุญสารซึ่งปกครองเวียงจันทน์ระหว่าง พ.ศ.๒๒๗๓-๒๓๒๒ มาอยู่ที่เมืองหนองบัวลุ่มภู ก่อนที่จะถูกพระเจ้าสิริบุญสารตีเมืองได้ พระตาตายในที่รบ พระวออพยพไปขอความคุ้มครองจากเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เจ้านครจำปาศักดิ์ ภายหลังอพยพครอบครัวกลับมาที่ดอนมดแดง ทำหนังสือขอเป็นขอบขัณฑสีมาของกรุงสยามในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พ.ศ.๒๓๑๙ เหตุการณ์การสร้างวัดสระไตรนุรักษ์เกิดขึ้นก่อนที่พระเจ้าสิริบุญสารจะตีเมืองหนองบัวลุ่มภูได้ สร้างโดยพระครูหลักคำ (ชา) ภิกษุชาวลาว ภายหลังได้บูรณะในปี พ.ศ.๒๔๕๐ ภายในวัดมีโบราณสถานสำคัญ คือหอไตรที่สร้างโดยพระครูหลักคำ(ชา)ใช้เก็บธรรมคัมภีร์ที่นำมาจากเมืองเวียงจันทน์


หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

         ลักษณะสถาปัตยกรรม หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์ เป็นหอไตรกลางน้ำ ตัวอาคารสร้างด้วยไม้ ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๘.๓๐ เมตร ยาว ๑๐.๕๐ เมตร ตั้งอยู่บนเสาไม้กลมจำนวน ๓๐ ต้น หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในแบ่งเป็นส่วนห้องเก็บคัมภีร์ และส่วนระเบียงโดยรอบ ห้องเก็บคัมภีร์เป็นห้องทึบ ตั้งบนฐานบัวสูง เหนือฐานบัวประดับกระจกสี่เหลี่ยมเป็นระยะๆ มีประตูในตอนกลางด้านหน้า บานประตูเป็นไม้แกะสลักลวดลายพันธ์พฤกษา ผนังระเบียงตีไม้ระแนงทแยงเป็นรูปก้างปลา โครงสร้างอาคารใช้เสาไม้รับน้ำหนักโครงสร้างหลังคาทรงปันหยา ที่ซ้อนชั้นลดหลั่นกันขึ้นไปในตอนกลาง ๓ ชั้น โดยชั้นล่างเป็นทรงปันหยา เหนือขึ้นไปอีก ๒ ชั้น เป็นทรงจั่วประดับโหง่ ใบระกา และหางหงส์ หน้าบันและคอสองประดับกระจกรูปทรงเรขาคณิต สันหลังคามีช่อฟ้า มุงด้วยแป้นเกล็ด ด้านหน้าหอไตรมีสะพานไม้มุงหลังคาจั่วเชื่อมจากฝั่ง ปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑ์หอไตรประวัติศาสตร์ วัดสระไตรนุรักษ์


โครงสร้างหลังคา หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์ ด้านทิศตะวันออก


สภาพพื้นและผนัง หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์ ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้


สภาพภายในห้องเก็บพระไตรปิฎก หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์

         

          เอกลักษณ์ของหอไตรวัดสระไตรนุรักษ์ คือ การเป็นหอไตรไม้ในระยะพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ที่มีความโดดเด่นด้วยเทคนิคการสร้างอาคารไม้แบบโบราณ     

          กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนและและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานวัดวัดสระไตรนุรักษ์(วัดนาเวียง) ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๓๓ เนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ ๑ งาน ๕ ตารางวา โดยหอไตรได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ.๒๕๓๙ ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย