แผ่นศิลา(จารึกถ้ำภูหมาไน) 


ที่ตั้ง              ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดทางภูมิศาสตร์       พิกัดแผนที่มาตราส่วน 1:50,000  พิมพ์ครั้งที่ 1-RTSD ลำดับชุด L7018 ระวาง 6039 I ที่ 48PWB521915 ประมาณรุ้งที่ 15 องศา 17 ลิปดา 56.91 ฟิลิปดา เหนือ  แวงที่ 105 องศา 29 ลิปดา 07.3 ฟิลิปดา ตะวันออก (ค่าพิกัดจาก GPS ที่ 48 P 552107.12  1691471.21 (WGS84))

แผนที่มาตราส่วน 1:50,000  พิมพ์ครั้งที่ 1-RTSD ลำดับชุด L7018 ระวาง 6039 I ที่ 48PWB521915

แผนที่ทหารแสดงตำแหน่งแผ่นศิลา (จารึกถ้ำภูหมาไน)

           ประวัติจารึกถ้ำภูหมาไน เป็นจารึกบนฐานรูปเคารพ ผู้สร้างคือ พระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน(เจ้าชายจิตรเสน)พบที่ถ้ำปราสาท ถ้ำพระ หรือถ้ำภูหมาไน เป็นถ้ำขนาดเล็ก ซึ่งเป็นชะง่อนผายื่นออกไปจากฝั่งแม่น้ำมูล กว้างประมาณ 30 เมตร ลึก 11 เมตร ความสูงของเพดานถ้าประมาณ 3 เมตร เป็นที่อยู่ของหมาไนที่มักอาศัยอยู่ในถ้ำ อาศัยฝั่งแม่น้ำมูลเป็นแหล่งอาหารและแหล่งน้ำ  เดิมในถ้ำมีพระพุทธรูปทอง เงิน และไม้ แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปแล้ว สำนักฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศ (EFEO) ได้กำหนดรหัสจารึกให้กับจารึกที่ฐานรูปเคารพนี้ว่า “K509” หรือ จารึกถ้ำภูหมาไน

          ลักษณะทางศิลปกรรม จารึกถ้ำภูหมาไน มีดังนี้ จารึกสร้างจากศิลา จารึกด้วยตัวอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต มีลักษณะเป็นฐานรูปเคารพทรงสี่เหลี่ยม กว้าง 55 ซ.ม.สูง 101 ซ.ม. หนา 11 ซ.ม. จารึกมีจำนวน 1 ด้าน มี 3 บรรทัด จารึกถ้ำภูหมาไน กล่าวถึง พระเจ้าจิตรเสน กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ทรงได้ชัยชนะเหนือกัมพูชาและได้เฉลิมพระนามว่า “ศรีมเหนทรวรมัน” อีกทั้งโปรดให้สร้างรูปเคารพต่างๆในลัทธิไศวนิกายใว้เพื่อเป็นเครื่องหมายของชัยชนะของพระองค์ ซึ่งในจารึกถ้าภูหมาในนี้เป็นการสร้างพระโค ซึ่งน่าจะหมายถึง โคนนทิ พาหนะของพระศิวะ กำหนดอายุรูปแบบตัวอักษรปัลลวะ ได้อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12

 

          เอกลักษณ์ของจารึกถ้ำภูหมาไน คือจารึกที่บอกถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ อันเป็นหลักฐานอย่างดีแสดงให้เห็นถึงอารยธรรมลุ่มแม่น้ำมูลในพุทธตวรรษที่ 12 มีผู้นำของอาณาจักรนับถือศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย สะท้อนให้เห็นถึงเจตนาการกระทำของพระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ต่อส่วนรวม 

          กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียน ถ้าภูหมาใน เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2479