วัดบ้านนาควาย ตั้งอยู่ที่ ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี สิม วัดบ้านนาควาย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นสิมอีสานขนาดเล็ก สร้างโดยญาคูทาและชาวบ้านนาควาย ไม่ปรากฏพุทธศักราชที่สร้าง แต่จากคำบอกเล่าได้กล่าวถึงการก่อตั้งบ้านนาควายว่า หลังจากที่พระวรราชสุริยวงศ์หรือท้าวคำผง ได้ขอพระราชทานอนุญาตก่อสร้างเมืองอุบลราชธานี ประชาชนที่ติดตามมาด้วยได้หาสถานที่เหมาะสมสำหรับการก่อสร้างหมู่บ้าน โดยได้พบที่ตั้งบ้านนาควาย ในปัจจุบันมีที่ราบและหนองน้ำที่เรียกว่า หนองฮาง จึงได้ก่อตั้งหมู่บ้านที่นี่ โดยมีการตั้งเสาหลักบ้านไว้ริมหนองฮาง ชาวบ้านนาควายเคารพนับถือในนาม เจ้าปู่ โดยแรกเริ่มก่อสร้างหมู่บ้าน มีบ้านเรือนประมาณสิบหลังคาเรือน เมื่อหมู่บ้านได้ขยายและมีจำนวนหลังคาเรือนมากขึ้นพอสมควร ชาวบ้านจึงได้สร้างวัดขึ้น เรียกว่า วัดนาควาย มีเจ้าอาวาสรูปแรก คือ หลวงปู่แดง เจ้าอาวาสวัดนาควายองค์ที่ 2 คือ ยาคูทา ได้นำชาวบ้านก่อสร้างสิม (อุโบสถ) ขึ้น กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 111 ตอนที่ 85 ง เมื่อวันที่ 25 สิหาคม พ.ศ. 2537

          สิมวัดบ้านนาควายมีความโดดเด่นที่ภายจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเป็นศิลปะพื้นถิ่น อันมีเอกลักษณ์ บุคลิกของตัวละครเฉพาะตัว ซึ่งสามารถนำมาสร้างสรรค์ต่อยอดได้ ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านการดูแลอนุรักษ์ สิมวัดบ้านนาควายนั้น ต้องพึ่งพาอาศัยเงินงบประมาณจากกรมศิลปากรเป็นหลัก สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี ร่วมกับชุมชนวัดบ้านนาควาย มีความเห็นพ้องกันว่า ควรมีแนวทางในการดูแลสิมอันเป็นโบราณสถานโดยประชาชนมีส่วนร่วม จึงได้มีแนวคิด การจัดตั้งกองทุนเพื่อการดูแลอนุรักษ์สิมวัดบ้านนาควายขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนมีความสามารถในการนำองค์ความรู้จากโบราณสถานมาใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์ตั้งต้น ซึ่งในอนาคตชุมชนสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้เอง และนำรายได้เข้าสู่กองทุนในการดูแลอนุรักษ์สิมต่อไป

           ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม สิมวัดบ้านนาควายเป็นสิมทึบ ก่ออิฐถือปูน มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 3 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทางขึ้นมีเพียงหนึ่งทาง มีมุขโถงด้านหน้า เสาด้านหน้า 2 ต้น รองรับโครงสร้างหลังคา ลักษณะเป็นเสาไม้กลม ในส่วนของมุขด้านหน้ามีพนักล้อมรอบ ตรงกลางพนักด้านหน้าเว้นช่องว่างสำหรับทางขึ้นและมีบันไดอยู่ด้านหน้า ภายในมีฐานชุกชีเป็นแท่นสี่เหลี่ยมติดกับผนังด้านหลัง

           ประวัติการก่อสร้างสิมนั้น เริ่มสร้างขึ้นโดย ยาคูทา ได้นำชาวบ้านก่อสร้างสิม (อุโบสถ) ขึ้น มีขนาด 11 ศอก 1 คืบ ในช่วงหลังสิมวัดนาควายได้รับการซ่อมแซมต่อเติมส่วนหน้า เมื่อกรมศิลปากรเข้ามาบูรณะปฏิสังขรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2554 - 2555 ได้นำส่วนต่อเติมออก ปัจจุบันสิม(อุโบสถ)วัดนาควาย เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด กว้าง 5.50 เมตร ยาว 9.00 เมตร เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน ลักษณะเอวฐานขันสูงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้ามีมุขคล้ายระเบียง ผนังเตี้ย ๆ สูงประมาณ 50 เซนติเมตร ด้านบนปล่อยโล่ง มีบันไดทางขึ้นและประตูเข้าสู่ภายในสิม (อุโบสถ) เพียงด้านเดียว ห้องหลักที่ใช้ในการประกอบพิธีของสิมเป็นห้องผนังทึบทั้งสี่ด้าน โดยด้านทิศเหนือและทิศใต้มีการเจาะช่องหน้าต่างด้านละ 1 ช่อง ประตูสิมอยู่ด้านทิศตะวันออก หลังคาสิมเป็นหลังคาทรงจั่วเดิมมุงด้วยแป้นเกล็ด ตกแต่งด้วยช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ซึ่งทำจากไม้แกะสลัก มีคันทวยไม้แกะสลักประดับด้านข้างอาคารข้างละ 5 ตัว พร้อมเต้ารับ ภายในสิมประดิษฐานพระประธานบนฐานชุกชีซึ่งเป็นฐานก่ออิฐฉาบปูน

 

 

            จิตรกรรมฝาผนัง สิม (อุโบสถ) เก่า วัดนาควาย ไม่มีประวัติว่าผู้ใดเป็นผู้เขียนและเขียนขึ้นเมื่อใด ภาพจิตรกรรมที่ผนังทั้งด้านนอกและด้านในสิม โดยผนังด้านนอกมีภาพที่บริเวณผนังเหนือกรอบประตูทางเข้า ส่วนด้านในมีจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน

           จิตรกรรมฝาผนังที่เขียนอยู่ผนังด้านนอก เหนือกรอบประตูนั้น เป็นการเขียนภาพบนพื้นขาว ขอบภาพเขียนโดยใช้สีดำ สีเติมหรือระบายเป็นสีเหลืองนวล เขียว และดำ ลักษณะการเขียนภาพเป็นภาพผสมผสานระหว่างพุทธประวัติและวิถีชีวิต โดยภาพหลักของผนังส่วนบน เป็นภาพพุทธประวัติ ตอนมารผจญ จิตรกรเขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับปางสมาธิ มีพระแม่ธรณีบีบมวยผม เพื่อให้น้ำมาขับไล่ทั้งยักษ์ มารที่เข้ามาผจญ ก่อกวนพระโพธิสัตย์ ก่อนที่พระองค์จะทรงตรัสรู้ ส่วนภาพด้านล่างเป็นภาพวิถีชีวิต ประกอบไปด้วยภาพชาวอีสานเป่าแคนและฟ้อนรำ และภาพวงปี่พาทย์ของทางภาคกลางอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีภาพบุคคลที่เป็นเอกเทศ ไม่เกี่ยงข้องกับเรื่องราวใด น่าสนใจจำนวน 3 กลุ่ม คือ

   1. สตรีสวมชฎาเดินเรียงสามคงหมายถึงนางฟ้า อยู่ด้านทิศใต้ และสตรีหลังค่อมถือไม้เท้า แสดงถึงความชราภาพเดินเรียงสามเช่นกัน ที่น่าสังเกตคือ สตรีผู้เฒ่านั้นสวมชฎาเช่นเดียวกัน อยู่ด้านทิศเหนือ 

  1. เป็นภาพบุคคลที่นั่งอยู่ภายในปราสาท
  2. บุคคลที่แต่งตัวคล้ายเป็นคนเชื้อสายจีน

          สำหรับภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในสิมนั้น เป็นภาพจิตรกรรมที่มีการลงสีพื้นหลังโดยสีหลักที่ใช้ลงพื้นคือ สีแดง สีเหลือง สีเขียว หากแต่ผนังด้านทิศใต้ และผนังด้านทิศตะวันออกฝั่งเหนือนั้น สันนิษฐานว่าภาพคงยังไม่เสร็จสมบูรณ์ พื้นหลังเป็นสีขาวยังไม่มีการเติมหรือระบายสีพื้นหลัง และภาพองค์ประกอบขาดหาย ในส่วนช่องกลางของผนังไม่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นเรื่องราวพุทธประวัติตอนใด ส่วนฝั่งตะวันตกนั้นเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงค์ และฝั่งตะวันออกเป็นภาพพุทธประวัติตอนปรินิพพาน ส่วนผนังด้านทิศตะวันออกฝั่งเหนือ เป็นภาพพุทธประวัติตอนประสูติก็ยังคงเป็นพื้นหลังขาวไม่มีการเติมระบายพื้นหลังเช่นกัน