กู่อูบมุง 


      กู่อูบมุง  ที่ตั้ง วัดป่าสุขไพรวัลย์ หมู่ 10 บ้านข่าใหญ่ ต.หนองผือ (หัวช้าง) อ.จตุรพักรพิมาร จ.ร้อยเอ็ด

      สิ่งสำคัญ กลุ่มโบราณสถานกู่อูบมุง ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานอาคาร ก่อด้วยศิลาแลงและอิฐจำนวน 4 แห่ง ดังนี้

  1. โบราณสถานหมายเลข 1 ลักษณะฐานก่อด้วยศิลาแลงอยู่ในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ประมาณ 8.80 เมตร ยาวประมาณ 20 เมตร สูงประมาณ 50 เซนติเมตร สภาพปัจจุบันมีการเทพื้นคอนกรีตทับบริเวณส่วนฐานทั้งหมดและสร้างหลังคาคลุม
  2. โบราณสถานหมายเลข 2 ลักษณะฐานก่อด้วยอิฐและศิลาแลง บริเวณฐานด้านทิศตะวันตกมีร่องรอยการบากอิฐเป็นฐานบัว ส่วนบริเวณฐานด้านทิศใต้พบอาคารก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีร่องรอยการฉาบปูนบริเวณมุมอาคารด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนของฐานโบราณสถานมีขนาดกว้างประมาณ 5.60 เมตร ยาวประมาณ 11.60 เมตร ความสูงฐานประมาณ 1 เมตร และความสูงจากฐานถึงซากอาคาร 2.48 เมตร
  3. ฐานโบราณสถานหมายเลข 3 ลักษณะฐานก่อด้วยอิฐอยู่ในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 3.10 x 10 เมตร สูงประมาณ 60 เซนติเมตร บริเวณกึ่งกลางฐานด้านทิศตะวันตกมีการก่ออิฐยื่นออกมาเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้างประมาณ 60 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.05 เมตร ส่วนขนาดอิฐที่ใช้ในการก่อมีขนาดกว้างประมาณ 12 เซนติเมตร ยาวประมาณ 25 เซนติเมตร หนาประมาณ 6 เซนติเมตร
  4. ฐานโบราณสถานหมายเลช 4 ลักษณะฐานก่อด้วยศิลาแลงและอิฐ อยู่ในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ขนาดกว้างประมาณ 9.20 เมตร ยาวประมาณ 15 เมตร สูงประมาณ 1 เมตร ขนาดอิฐที่ใช้ก่อมีขนาดกว้าง 12 เซนติเมตร ยาว 23 เซนติเมตร หนา 7 เซนติเมตร และกว้าง 13.5 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร หนา 8 เซนติเมตร สภาพปัจจุบันมีการเทพื้นคอนกรีตทับส่วนฐานและสร้างหลังคาคลุม สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นโบสถ์ เนื่องจากการพบพระประธานแต่ชำรุดแล้ว ทางท้องถิ่นจึงสร้างองค์ใหม่แทนองค์เดิม

 

      การขึ้นทะเบียน 

  1. ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ “กู่อูบมุง” บ้านข่าน้อย ตำบลหัวช้าง ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 หน้า 3697 วันที่ 8 มีนาคม 2478
  2. ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน “กู่อูบมุง” ตำบลหนองผือ อำเภอจตุรพักตร์พิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด พื้นที่โบราณสถานประมาณ 1 ไร่ 1 งาน 89 ตารางวา นาชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 172 หน้า 39 วันที่ 18 พฤศจิกายน 2525