กู่อูบมุงเจดีย์บ้านชาติ  


          กู่อูบมุงเจดีย์บ้านชาติ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอุโมงค์หนองแวง ห่างจากแม่น้ำชีมาทางทิศใต้ประมาณ 100 เมตร พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความดูแลของชาวบ้านคูฟ้า บ้านโคกน้อย บ้านโคกสีและบ้านเจริญสุข จากการสอบถามประวัติพระธาตุกู่อูบมุง จากผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า “โดยมีขอมโบราณคณะหนึ่งสันนิษฐานว่าเป็นชาวพุทธ ที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ได้รับว่า ขณะนั้นกำลังมีการก่อสร้างพระธาตุพนม เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่หัวเมืองนครพนม จึงได้เกิดศรัทธาต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการก่อสร้างพระธาตุพนมดังกล่าว จึงได้รวบรวมสมัครพรรคพวกจำนวนหนึ่ง รวมกันเป็นหมู่คณะ ออกเดินทางโดยใช้ม้าต่างวัวต่าง บรรทุกเครื่องสักการบูชาและสัมภาระแก้วแหวนเงินทองต่าง ๆ มากมาย มุ่งหน้าสู่หัวเมืองนครพนม เพื่อร่วมก่อสร้างพระธาตุพนม เมื่อเดินทางมาถึงป่าอูบมุง ก็ได้ทราบข่าวว่าพระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้ว หัวหน้าคณะไม่สามารถนำพรรคพวกเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาได้ จึงได้สร้างกู่พระธาตุองค์นี้ขึ้น เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ได้บรรจุสิ่งของมีค่าต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน พระพุทธรูปศิลา พร้อมทั้งแก้วแหวนเงินทองมากมาย พร้อมกันนั้นได้ตั้งหมู่บ้านขึ้นที่นั่นด้วย (ปัจจุบัน กลายเป็นหมู่บ้านร้าง ยังคงมีร่องรอยของสระน้ำเก่าของหมู่บ้านดังกล่าว) นอกจากนั้นยังได้สร้างพระพุทธรูปศิลาปางมารวิชัยขึ้นอีกองค์หนึ่ง มีหน้าตักกว้าง 15 นิ้ว สูง 30 นิ้ว ประดิษฐานไว้ที่เจดีย์กู่อูบมุง”

          ต่อมาพระธาตุกู่อูบมุง ได้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา พังทับถมพระพุทธรูปดังกล่าวเหลือให้เห็นแค่เศียรเท่านั้น พอให้ชาวบ้านได้สรงน้ำและกราบไหว้ในงานเทศการสรงน้ำพระและเทศกาลสรงกู่ งานนี้มีขึ้นเป็นประจำซึ่งตรงกับ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี

 

          เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2468-2470 พระสมุห์พิมพ์ (พิมพ์ ชุปวา) เจ้าอาวาสวัดบ้านคูฟ้า (บ้านชาติ) สมัยนั้นได้นำพระภิกษุสามเณรและชาวบ้าน โดยมีพ่อใหญ่ขุนศักดา (ดา ธะนี) ผู้ใหญ่บ้านโคกน้อย ได้ทำการขุดพระธาตุอูบมุงเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ ได้พบไหโบราณ 2 ใบ พระพุทธรูปทองคำ 3 องค์ พระพุทธรูปทุกองค์จารึกเป็นอักษรขอม มีขนาดเท่า ๆ กัน สูงประมาณ 1 คืบ หน้าตัก 2 นิ้ว หนักประมาณ 6 ตำลึง และพบพระพุทธรูปศิลดำ ปางลีลา สูงประมาณ 1 ศอก กว้าง 1 ฟุต ปัจจุบันพระพุทธรูปเหล่านั้นได้ถูกโจรกรรมไปหมดแล้ว