ประวัติวัดกลางมิ่งเมือง เอกสารกล่าวว่าสร้างในปี พ.ศ.๒๐๘๔ เดิมชื่อว่าวัดกลาง เพราะตั้งอยู่บนเนินใจกลางเมืองร้อยเอ็ด ภายในมีโบราณสถานสำคัญคือสิมที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในสมัยอยุธยาตอนปลาย

          สิมมีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นทรงพื้นถิ่นอีสาน สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้วยวัสดุก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นสิมขนาด ๕ ห้องที่มีระเบียงโดยรอบ ประตูทางเข้าด้านหน้าเพียงทางเดียว มีหน้าต่างด้านละ ๕ บาน โครงสร้างใช้เสาและผนังรับน้ำหนักโครงสร้างหลังคาจั่วในตอนกลาง และเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่รอบนอกรับน้ำหนักหลังคาปีกนกด้านข้างทั้ง ๒ ข้าง หลังคาซ้อนชั้นด้านหน้า ๒ ชั้น และด้านหลัง ๒ ชั้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบ จั่วตกแต่งด้วยโหง่ ใบระกา และหางหงส์ ผนังด้านนอกรอบสิมตั้งแต่บริเวณเหนือหน้าต่างขึ้นไป เขียนภาพจิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติและทศชาติชาดก โดยใช้สีเขียว สีเหลือง สีน้ำเงิน ตัดเส้นด้วยสีดำ เหนือประตูแต่งเป็นซุ้มโค้งยอดแหลมภายในประดิษฐานพระพุธรูปปูนปั้น หน้าบันเป็นปูนปั้นรูปเทวดานั่งพนมมือ ทับหลังเป็นลายกนก รวงผึ้งไม้จำนวน ๓ แผง แกะสลักลายก้านขดพันธุ์พฤกษา ภายในประดิษฐานพระประธานปูนปั้นทาสีทอง ประทับนั่งปางมารวิชัยบนฐานชุกชี พระรัศมีเป็นบัวที่ชะลูดขึ้นไป มีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับพระเศียร พระวรกายผอมสูง พระพักตร์วงรี พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์บางในอาการแย้มสรวลเล็กน้อย    

          เอกลักษณ์ของสิมวัดกลางมิ่งเมือง คือ เป็นรูปแบบของสิมก่ออิฐถือปูนทรงพื้นถิ่นอีสานในระยะพุทธศตวรรษที่ ๒๑ อีกแห่งหนึ่ง ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย