วัดจักรวาลภูมิพินิจ ตั้งอยู่ที่ ต.หนองถ่าน อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด ตั้งเมื่อพ.ศ.2430  ตำนานพื้นถิ่นกล่าวว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙ โดยปู่เมืองปาก โดยท่านได้นำกลุ่มชนชาติลาวเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ และอาสาช่วยราชการทำการรบกับจีนฮ่อและฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานบรรดาศักดิ์และราชทินนามว่า หลวงชนะสงคราม ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๐ ท่านชักชวนเครือญาติและประชาชนสร้างวัดจักรวาลภูมิพินิจให้เป็นวัดประจำหมู่บ้าน ภายในวัดประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญ คือ สิม ที่สร้างในปี พ.ศ.๒๔๕๒

            ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นสิมทรงพื้นถิ่นอีสาน สร้างก่ออิฐถือปูนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีกำแพงแก้วล้อมรอบ เป็นสิมขนาด ๓ ห้องตั้งบนฐานเอวขัน รวมห้องมุขด้านหน้าที่ก่อผนังเตี้ยๆโดยรอบ มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก เชื่อมต่อกับบันไดที่ประดับตัวมอม โครงสร้างอาคารใช้เสาและผนังรับโครงสร้างหลังคาจั่ว มุงแป้นเกล็ด ตกแต่งด้วยโหง่ ใบระกาแบบนาคสะดุ้ง และหางหงส์แบบนาค ๓ เศียร หน้าบันตีไม้เป็นลายแสงตาเวน (ตะวัน) ประดับกระจกเงา มุมทั้งสามของหน้าบันประดับดอกลอยขนาดใหญ่ แผงรวงผึ้งไม่มีเสาคู่หน้า ทำให้รวงผึ้งหย่อนเกือบถึงระดับเดียวกับผนังห้องมุข อีกทั้งประดับไม้แกะสลักลายกนกเครือ และลายดอกลอยด้านล่างบริเวณโค้งรวงผึ้ง คันทวยเป็นไม้แกะสลักรูปนาคมีปีก ภายนอกสิมเขียนจิตรกรรมเป็นภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธองค์ออกผนวช ปลงพระเกศา ภาพมารผจญ และภาพขุมนรก ภายในสิมเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องสังข์สินไซ ฝีมือช่างพื้นบ้าน

 

          เอกลักษณ์ของสิมวัดจักรวาลภูมิพินิจ พบได้จากงานศิลปกรรมประดับสิม ได้แก่งานไม้แกะสลักประดับรวงผึ้ง และภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นก่อนปี พ.ศ.๒๕๐๐ เช่นเดียวกับภาพจิตรกรรมที่วัดกลางมิ่งเมือง วัดไตรภูมิคณาจารย์ วัดขอนแก่นเหนือ วัดประตูชัย และวัดมาลาภิรมย์ ซึ่งล้วนเป็นฝีมือที่โดดเด่นในชั้นเชิงช่างพื้นบ้านอีสานอย่างแท้จริง

          กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดพื้นที่โบราณสถาน วัดจักรวาฬภูมิพินิจ ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๔ พื้นที่โบราณสถานมี ๑ ไร่ ๒ งาน ๓๔ ตารางวา  โบราณสถานแห่งนี้ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ.๒๕๔๒ ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย