กู่พระโกนา (กู่สี่แจ่งหรือกู่คำกูนา) ตั้งอยู๋ที่ ต.สระคู อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด พิจารณาจากรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นปราสาทที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ตามอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร เพื่ออุทิศแด่เทพเจ้าทั้ง ๓ ในลัทธิตรีมูรติของศาสนาพราหมณ์ ได้แก่ พระอิศวร พระพรหม และพระนารายณ์ ผังกู่พระโกนามีลักษณะเดียวกับกู่กาสิงห์ ที่ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างภายในกำแพง ได้แก่กลุ่มปราสาท ๓ หลัง สร้างอยู่บนฐานเดียวกัน และอาคารบรรณาลัยทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกลุ่มปราสาท ส่วนนอกกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นสระน้ำ

         ลักษณะสถาปัตยกรรมกลุ่มปราสาท ๓ หลัง สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ใช้หินทรายและอิฐเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง โดยวางตัวเรียงกันไปในแนวทิศเหนือ-ใต้ ปัจจุบันปราสาทหลังกลางได้ดัดแปลงสภาพให้เป็นเจดีย์ทรงมณฑปในผังย่อมุมไม้สิบสอง มีซุ้มโค้งประดิษฐานพระพุทธรูปมารวิชัยทั้งสี่ด้าน เหนือมณฑปเป็นชั้นลดเรียงหลั่นกันขึ้นไป ๕ ชั้น บริเวณมุมของชั้นลดประดับกลีบขนุน ต่อจากชั้นลดเป็นองค์ระฆังขนาดเล็กที่เหนือขึ้นไปเป็นปล้องไฉนและปลียอด ปราสาทอิฐทิศเหนือถูกรบกวนด้วยการสร้างกุฏิสมัยใหม่ทับลงบนฐานปราสาทเดิม ส่วนปราสาทอิฐทิศใต้มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด พบทับหลังและเสาประดับกรอบประตูทำด้วยหินทราย สำหรับบรรณาลัยปรากฏเฉพาะส่วนฐาน ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ต่อมุขออกมาทางด้านทิศตะวันตก เพื่อใช้เป็นทางเข้าที่ปัจจุบันได้ก่อสร้างหอระฆังทับด้านบน ลักษณะกำแพงเป็นกำแพงศิลาแลงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกที่ก่อเป็นรูปกากบาท (โคปุระ) โดยก่อมุขยาวด้านนอกและมุขที่สั้นกว่าด้านในกำแพง บริเวณกึ่งกลางกำแพงทางทิศเหนือและทิศใต้มีห้องในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูด้านในกำแพง ส่วนด้านนอกทำเป็นซุ้มประตูหลอก ส่วนสระน้ำที่อยู่นอกกำแพง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปัจจุบันถูกขุดลอกและปรับให้เป็นแหล่งน้ำสาธารณะ จากหลักฐานทางโบราณคดี สันนิษฐานว่าเดิมคงจะมีสะพานนาคและทางเดินประดับเสานางเรียงจากประตูด้านหน้าไปยังสระน้ำ

 

          เอกลักษณ์ของกู่พระโกนา คือ การพบทับหลังที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปะเขมรสมัยบาปวน ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ โดยบริเวณปราสาทด้านทิศเหนือ พบทับหลังภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ พระนารายณ์ทรงครุฑ รามเกียรติ์ และรูปบุคคลเหนือหน้ากาลบริเวณปราสาทด้านทิศใต้ พบทับหลังเป็นภาพบุคคลประทับนั่งบนหลังโค และบุคคลประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้วเหนือหน้ากาล 

          กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนกู่พระโกนาในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานกู่พระโกนา ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๕ เนื้อที่ประมาณ ๘ ไร่ ๒ งาน ๑๖ ตารางวา ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมา