กู่น้อยบ้านยางกู่ ตั้งอยู๋ที่ ต.มะอึ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด พิจารณาจากรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นปราสาทหรือเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ ที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ตามแบบวัฒนธรรมเขมร โดยในระยะห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๓๐๐ เมตร เป็นที่ตั้งของกู่บ้านหนองกู่(ปรางค์กู่)ที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เพื่อใช้เป็นอโรคยาศาล

         ลักษณะสถาปัตยกรรมกู่น้อยบ้านยางกู่ เป็นกลุ่มปราสาท ๓ หลังสร้างบนฐานเดียวกัน พบเพียงส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลงในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อเก็จ ฐานสูงประมาณ ๑.๕ เมตร สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ต่อมุขยื่นออกมาทั้งทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก มีบันไดทางขึ้นทั้งสองด้าน ส่วนปราสาทด้านทิศเหนือและทิศใต้ พบเพียงแท่นฐานสำหรับประดิษฐานประติมากรรม สันนิษฐานว่าเป็นอาคารเครื่องไม้ เนื่องจากพบเสาหลุมที่มุมทั้ง ๔ ของแท่นฐาน

 

             ลักษณะผังของกลุ่มปราสาท ๓ หลังบนฐานเดียวกันของกู่น้อยบ้านยางกู่ ปรากฏให้เห็นสมบูรณ์ที่กู่กาสิงห์ ซึ่งประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างในกำแพง ได้แก่ ปราสาท ๓ หลังสร้างบนฐานเดียวกัน และอาคารบรรณาลัย ๒ หลัง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาท และสิ่งก่อสร้างนอกกำแพง ได้แก่ คูน้ำรูปตัว U ที่ล้อมรอบกำแพงด้านนอก และสระน้ำทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาท

            เอกลักษณ์ของกู่น้อยบ้านยางกู่ คือ ลักษณะการวางผังกลุ่มปราสาท ๓ หลังบนฐานเดียวกัน ในระยะพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ซึ่งมีลักษณะต่างออกไปจากผังอโรคยาศาลของปรางค์กู่ที่สร้างในระยะพุทธศตวรรษที่ ๑๘

          กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานกู่น้อยบ้านยางกู่ ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๕ เนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่ ๑ งาน ๒๔ ตารางวา โบราณสถานแห่งนี้ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ.๒๕๓๕ ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย