กู่โพนวิท ตั้งอยู่ที่ บ้านกู่กาสิงห์  ตำบลกู่ดาสิงห์  อำเภอเกษตรวิสัย  จังหวัดร้อยเอ็ด กู่โพนวิท ห่างจากกู่กาสิงห์มาทางทิศเหนือประมาณ ๓๐๐ เมตร พิจารณาจากรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นปราสาทหรือเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ตามแบบวัฒนธรรมเขมร บนพื้นที่ชุมชนโบราณที่อาศัยสืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย จากหลักฐานที่พบเป็นกลุ่มภาชนะดินเผาใส่กระดูกแบบประเพณีการฝังศพครั้งที่ ๒ ในกลุ่มวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ เดิมกู่โพนวิทสร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระนารายณ์ ก่อนที่จะถูกปรับเปลี่ยนเป็นเทวาลัยพระอิศวร ภายในบริเวณกู่โพนวิท ประกอบด้วยฐานปราสาทแบบเขมร ๑ แห่ง สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และฐานขนาดเล็กอีก ๒ ฐานทางด้านหน้าปราสาท  

 

           ลักษณะสถาปัตยกรรมกู่โพนวิท ส่วนฐานปราสาทก่อด้วยศิลาแลง เป็นฐานบัวยกสูงจากพื้นดินประมาณ ๒ เมตร ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านบนเป็นทรายอัดแน่นก่อนปูศิลาแลง ไม่มีบันไดทางขึ้น ตอนกลางและบริเวณมุมทั้ง ๔ ปรากฏฐานขนาดเล็กในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีหลุมเสาไม้ที่มุมฐานทั้ง ๔ ส่วนฐานอาคารที่สันนิษฐานว่าเป็นบรรณาลัยที่ก่อด้วยศิลาแลงในแผงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า


         การขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่พบแท่นฐานโยนีที่มีช่องเดือยรูป ๘ เหลี่ยม สำหรับใช้ประดิษศิวลึงค์ และทวารบาลรูปมหากาลซึ่งมักพบในเทวสถานพระอิศวร ปะปนกับชิ้นส่วนประติมากรรมพระนารายณ์ที่ถูกทุบทำลายและกระจายทั่วพื้นที่ นำมาซึ่งข้อสันนิษฐานว่าเดิมกู่โพนวิทสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยของพระนารายณ์มาก่อนในระยะต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นเทวาลัยของพระอิศวรในระยะปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ขณะนั้นคงมีการทุบทำลายประติมากรรมพระนารายณ์และนำศิวลึงค์มาประดิษฐานแทนที่    

เอกลักษณ์ของกู่โพนวิท คือ การแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมในบ้านกู่กาสิงห์เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ที่มีการปะทะสังสรรค์ทางคติความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ ระหว่างลัทธิไวษณพนิกายกับลัทธิไศวนิกาย

          กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานกู่โพนวิท ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๔ เนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่ ๓ งาน ๓๖ ตารางวา โบราณสถานแห่งนี้ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ.๒๕๔๕ ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย