ฐานมหาเจติยสถาน


เมืองศรีมโหสถและตำแหน่งที่ตั้งของฐานมหาเจติยสถาน

     มหาเจติยสถาน หรือโบราณสถานหมายเลข ๘๖ ประกอบด้วยเจดีย์ (มาจาก “เจติยะ”) ส่วนประดิษฐานรูปเคารพ ส่วนประกอบพิธี ฯลฯ ณ พื้นที่กลางเมืองศรีมโหสถ ชาวเมืองก่อศิลาแลงสร้าง   มหาเจติยสถานแห่งนี้ ส่วนบนพังทลาย คงเหลือเพียงฐานสองชั้นลดหลั่นกัน (ขนาด ๒๕ x ๔๐ เมตร) หน้ามุขอยู่ด้านใต้ มีรูปปั้นสิงห์ขนาบช่องทางเข้า ข้างละตัว หลุมกลมที่มุมของหน้ามุขและรอบฐานชั้นล่างคือหลุมเสาไม้รองรับหลังคาของระเบียงคต เป็นทางเดินประทักษิณ ฐานชั้นบนด้านข้างและด้านหลังปรากฏโครงสร้างตารางสี่เหลี่ยม เดิมมีดินถมอัดเต็มเพื่อเสริมความแข็งแรงของฐานเจดีย์ ด้านหลังของฐานชั้นบน มีฐานสี่เหลี่ยมอยู่ในระดับต่ำกว่า อาจเป็นห้องประดิษฐานรูปเคารพหรือประกอบศาสนพิธี

     จากการขุดค้นทางโบราณคดีในปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ พบศาสนวัตถุ เช่น ตะคันดินเผา ชิ้นส่วนพระพุทธรูปสำริดขนาดเล็ก ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๔ หรือ ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว สันนิษฐานว่าพุทธศาสนิกชนทวารวดีสร้างมหาเจติยสถานแห่งนี้

 

 

 

ชิ้นส่วนพระพุทธรูปสำริดขนาดเล็ก ศิลปะทวารวดี พบจากการขุดค้นทางโบราณคดี

    โบราณสถานเมืองศรีมโหสถได้รับการขึ้นทะเบียน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒    วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘