ฐานหอพระแห่งอาโรคยศาลา


เมืองศรีมโหสถและตำแหน่งที่ตั้งของฐานหอพระแห่งอาโรคยศาลา    

    ฐานหอพระแห่งอาโรคยศาลา หรือโบราณสถานหมายเลข ๑๑ ตั้งอยู่ ณ มุมตะวันออกเฉียงเหนือ นอกเมืองศรีมโหสถ ฐานพื้นศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (ขนาด ๗ x ๑๕ เมตร) นี้ มีแท่นสี่เหลี่ยม ๒ แท่นวางใกล้กัน แท่นแรกเป็นศิลาแลง จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบชิ้นส่วนพระหัตถ์ถือสร้อยลูกประคำ (ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี) จึงสันนิษฐานว่าแท่นศิลาแลงนี้เคยประดิษฐานรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เพื่อเป็นที่บูชาของพุทธศาสนิกชนมหายานในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ (๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว)

พระหัตถ์ชองพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี

     ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ (๘๐๐ ปีมาแล้ว) ปรับเป็นหอพระประจำอาโรคยศาลา เพื่อประดิษฐานรูปเคารพ ๓ องค์ (พระพุทธเจ้าแพทย์และพระโพธิสัตว์ ๒ องค์เคียงข้าง) บนแท่นที่สองซึ่งเป็นหินทราย จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบศาสนวัตถุสำริด เช่น สังข์ เชิงเทียน กรอบคันฉ่อง ขันน้ำ บางชิ้นมีจารึกภาษาเขมร กล่าวถึงการอุทิศถวายแด่ “พระอาโรคยศาล” แห่ง “อวัธยปุระ” โดย “พระเจ้าชัยวรมัน” (ที่ ๗) ผู้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาโรคยศาลา หรือ โรงพยาบาล จึงสันนิษฐานว่าโบราณสถานแห่งนี้เป็นหนึ่งในหอพระประจำอาโรคยศาลาจำนวน ๑๐๒ แห่ง ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เช่นเดียวกันกับ กลุ่มโบราณสถานสระมรกต ปัจจุบันโบราณวัตถุสำริดเหล่านี้จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี

 

 

วัตถุสำริด จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี

     โบราณสถานฐานหอพระแห่งอาโรคยศาลา (โบราณสถานหมายเลข ๑๑) ได้รับการขึ้นทะเบียน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๐ ตอนที่ ๒๒๐ วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๕

แผนผังขึ้นทะเบียนโบราณสถานฐานหอพระแห่งอาโรคยศาลา