ฐานเทวสถานพระวิษณุ

เมืองศรีมโหสถและตำแหน่งที่ตั้งของฐานเทวสถานพระวิษณุ

     ฐานเทวสถานพระวิษณุหรือโบราณสถานหมายเลข ๒๕ และ ๒๖ ตั้งอยู่ภายในเมืองศรีมโหสถ ใกล้กับคูเมืองด้านใต้ เทวสถานหันไปด้านตะวันออกซึ่งเป็นที่ตั้งของคูน้ำกลางเมือง

     เทวสถานแห่งนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานรูปพระวิษณุสี่กรประทับยืน ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ (๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว) ทรงเป็นเทพเจ้าผู้ปกป้องผืนดินและแผ่นน้ำ เทวสถานจึงสร้างขึ้น ณ ตำแหน่งตรงกับคูน้ำกลางเมือง (ห่างไป ๘๐ เมตร) ประสงค์ให้เมืองสัมพันธ์กับคติการประกอบพิธีบูชาพระองค์เพื่อคุ้มครองความบริบูรณ์    พูนสุขของชาวเมือง เทวสถานเหลือเพียงส่วนฐานศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีมุขด้านหน้าคล้ายแท่นสรงน้ำเทวรูป (สนานโทรนี) ขนาด ๙ x ๑๒ เมตร มุมฐานทั้งสองข้างสกัดเป็นวงโค้ง สันนิษฐานว่าเป็นช่องสำหรับ  วางแท่นเพื่อประดิษฐานรูปเคารพของเทพชั้นรองหรือเครื่องบูชา ที่มุมทั้งสี่มีฐานเสาวงกลมเพื่อรองรับต้นเสาและโครงสร้างหลังคาเครื่องไม้ (โบราณสถานหมายเลข ๒๕)

     จากการขุดแต่งทางโบราณคดี ในพุทธศักราช ๒๕๑๘ พบพระวิษณุสี่กรทำจากหินทราย พระหัตถ์ซ้ายด้านล่างถือคฑาหรือกระบอง พระหัตถ์ขวาด้านล่างถือก้อนดิน พระกรและพระหัตถ์ด้านบนทั้งสองข้าง   หักหายไป สันนิษฐานว่าถือจักรและหอยสังข์ ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี       

พระวิษณุ พบจากการขุดแต่งทางโบราณคดี

พระวิษณุ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี

     ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเทวสถานแห่งนี้ ห่างไป ๑๗ เมตร มีแท่นศิลาแลงสี่เหลี่ยมจัตุรัส (โบราณสถานหมายเลข ๒๖) กว้างด้านละ ๓.๘ เมตร มีฐานเสา ๕ ฐานเรียงด้านหน้า สันนิษฐานว่าเป็นแท่นสำหรับพราหมณ์ในการประกอบพิธีบูชาพระวิษณุและเทพอื่น ๆ

แผนผังของเทวสถานพระวิษณุ

(ซ้าย) อาคารประดิษฐานพระวิษณุ

(ขวา) แท่นสำหรับพราหมณ์ในการประกอบพิธีบูชา

     โบราณสถานเมืองศรีมโหสถได้รับการขึ้นทะเบียน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒    วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘