วัดกลางเมืองไชยบุรี


ที่ตั้ง              บ้านไชยบุรี หมู่ที่ 3  ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

พิกัดทางภูมิศาสตร์       พิกัดแผนที่มาตราส่วน 1:50,000  พิมพ์ครั้งที่ 1-RTSD ลำดับชุด L7018 ระวาง 5844 II ที่ 48QVE427524 ประมาณรุ้งที่ 17 องศา 39 ลิปดา 26.37  ฟิลิปดา เหนือ  แวงที่ 104 องศา 27 ลิปดา 36.44  ฟิลิปดา ตะวันออก (ค่าพิกัดจาก GPS ที่ 48 P 442737 1952356 (WGS84))

 

แผนที่มาตราส่วน 1:50,000  พิมพ์ครั้งที่ 1-RTSD ลำดับชุด L7018 ระวาง 5844 II ที่ 48QVE427524

แผนที่ทหารแสดงตำแหน่งวัดกลางเมืองไชยบุรี

           ประวัติวัดกลางเมืองไชยบุรี มีประวัติความเป็นมาการก่อสร้างวัดไม่แน่ชัด แต่ทราบเพียงปีที่คาดว่าเป็นปีที่สร้างสิม(อุโบสถ)เสร็จระบุอยู่ตรงบริเวณที่หน้าบันสิมคือปีพ.ศ.2479 โดยในการก่อสร้างวัดได้มีการสร้างพระธาตุขึ้นพร้อมกัน แต่เดิมวัดกลางเคยมีหอแจก(ศาลาการเปรียญ)และศาลาโถงมาก่อนและมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่เป็นพระประธานประดิษฐานอยู่พร้อมกับมีจารึกปักอยู่ด้านหลังพระประธาน(จารึกวัดกลางไชยบุรี) ปัจจุบันหอแจกและศาลาโถงถูกแม่น้ำโขงเซาะพังลงไป พระประธานและศิลาจารึกชาวบ้านได้นำเคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาใว้ที่วัดไตรภูมิ บ้านไชยบุรี จนถึงปัจจุบัน วัดสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หันหน้าเข้าสู่แม่น้ำโขง ภายในวัดมีสิ่งสำคัญประกอบด้วย ศิลาจารึก สิม(อุโบสถ) พระธาตุ 1 องค์ โบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ สิม(อุโบสถ) และพระธาตุ โดยมีลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรม ดังนี้

          สิม (อุโบสถ) เป็นสิมรูปทรงพื้นเมืองอาคารหลังคาทรงจั่วชั้นเดียว อยู่ในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นสิมทึบขนาด 3 ห้อง สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก(หันหน้าเข้าสู่แม่น้ำโขง) ก่อสร้างแบบก่ออิฐถือปูนและก่อมุขหน้าอีก 1 ห้อง ทำบันไดขึ้นทางด้านหน้าเพียงด้านเดียว ฐานอาคารก่อเป็นฐานบัวคว่ำ-บัวหงายประดับด้วยบัวลูกแก้วอกไก่ บริเวณส่วนตัวอาคารด้านหน้า ก่อผนังมุขเป็นซุ้มโค้งทรงรียาว 3 ช่อง ช่องกลางเป็นทางเข้า-ออก ส่วนอีกสองช่องด้านข้างก่อเป็นราวระเบียงโปร่งเรียงกันไปทั้งทางด้านหน้าและด้านข้างของมุขอาคาร ผนังด้านข้างได้ทำเป็นช่องหน้าต่าง 2 ช่อง หลังคามุงด้วยสังกะสีไม่พบเครื่องประดับบนชั้นหลังคา การประดับตกแต่งพบลวดลายปูนปั้นประดับบริเวณหน้าบันและขอบกรอบซุ้มประตู กึ่งกลางช่วงล่างของผนังหน้าบันระบุปีข้อความ “สร้างเมื่อพ.ศ.2479” เหนือซุ้มโค้งมุขด้านหน้าประดับด้วยลายมงคล(ลายประแจจีน) ประตูทางเข้าด้านหน้ามีลักษณะเป็นประตูไม้แบบเปิดเข้า 2 บานเช่นเดียวกับหน้าต่าง เหนือกรอบประตูทำเป็นช่องแสงสี่เหลี่ยมเรียงสลับแถว 5 แถว และตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นประดับกระจกรูปดอกไม้ในกรอบซุ้มเหนือหน้าต่าง

 

          พระธาตุ เป็นธาตุรูปทรงบัวเหลี่ยมแบบศิลปะพื้นเมือง สร้างในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ล้อมรอบด้วยกำแพงที่ก่อเป็นช่องรียาวต่อเนื่องกันไปอันเป็นรูปแบบอิทธิพลของช่างญวณ ฐานมีลักษณะเป็นฐานบัวคว่ำรองรับเรือนธาตุ 2 ชั้น ประดับตกแต่งด้วยลายปูนปั้นทาสีประดับกระจก โดยชั้นล่างทำลวดลายเป็นประตูหลอกอยู่กึ่งกลางเรือนธาตุทุกด้าน ส่วนกึ่งกลางเรือนธาตุชั้นบนแต่ละด้านประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นแต้มสีประทับอยู่ในอิริยาบถยืนอยู่ภายในซุ้มปูนปั้นประดับกระจกถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังรูปทรงบัวเหลี่ยมแต่ละด้านประดับลวดลายปูนปั้นเป็นรูปดอกไม้ประดับเกสรด้วยกระจก ถัดขึ้นไปจึงประดับด้วยกระจกเงาทรงสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดก่อบัลลังก์ในผังสี่เหลี่ยมรองรับองค์ระฆังจำลองและประดับด้วยฉัตรบนยอดเจดีย์

 

          เอกลักษณ์ของวัดกลางเมืองไชยบุรี คือ สิมญวณที่แสดงให้เห็นถึงศิลปกรรมพื้นถิ่นอีสานที่รับอิทธิพลศิลปะผ่านช่างญวณที่เข้ามาในแถบภาคอีสานช่วงสงครามอินโดจีน และพระธาตุเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลขององค์พระธาตุพนม ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมสร้างในบริเวณฝั่งแม่น้ำโขงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

           กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติ เรื่องกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2475