วัดพระธาตุพนม(พระธาตุพนม)


ที่ตั้ง              บ้านธาตุพนม ถนนชยางกูร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

พิกัดทางภูมิศาสตร์       พิกัดแผนที่มาตราส่วน 1:50,000  พิมพ์ครั้งที่ 1-RTSD ลำดับชุด L7018 ระวาง 5942 IV ที่ 48QVD706732 ประมาณรุ้งที่ 16 องศา 56 ลิปดา 33.56  ฟิลิปดา เหนือ  แวงที่ 104 องศา 43 ลิปดา 26.92  ฟิลิปดา ตะวันออก (ค่าพิกัดจาก GPS ที่ 48 P 470628 1873232 (WGS84))

แผนที่มาตราส่วน 1:50,000  พิมพ์ครั้งที่ 1-RTSD ลำดับชุด L7018 ระวาง 5942 IV ที่ 48QVD706732

แผนที่ทหารแสดงตำแหน่งวัดพระธาตุพนม(พระธาตุพนม)

        ประวัติวัดพระธาตุพนม ไม่ปรากฏหลักฐานด้านเอกสารที่เกี่ยวกับประวัติการก่อสร้างวัด แต่มีตำนานอุรังคธาตุ(ตำนานพระธาตุพนม) ได้กล่าวว่า พระมหากัสสปเถระและพระอรหันต์ 500  องค์ พร้อมด้วยเจ้าผู้ครองนครในแคว้นทั้ง 5 ได้ร่วมกันสร้างขึ้นในราวพ.ศ.8 ขณะที่อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์กำลังเจริญรุ่งเรือง ณ ภูกำพร้า ริมฝั่งแม่น้ำโขง หลังสร้างเสร็จแล้วได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ (กระดูกหน้าอก) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประดิษฐานใว้ภายในองค์พระธาตุพร้อมด้วยของมีค่าจำนวนมาก วัดสร้างหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก หันหน้าเข้าสู่แม่น้ำโขง  ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างประกอบด้วย องค์พระธาตุพนม พระอุโบสถ หอพระแก้ว วิหารคต และสระมุรธาภิเษก สิ่งที่น่าสนใจคือ องค์พระธาตุพนม โดยมีลักษณะทางศิลปสถาปัตยกรรมดังนี้ 

          องค์พระธาตุพนม(องค์ปัจจุบัน) มีลักษณะเป็นเจดีย์รูปทรงมณฑปสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกัน 2 ชั้น ส่วนยอดเป็นทรงบัวเหลี่ยมสอบขึ้นไปทั้ง 4 ด้าน ขนาดฐานกว้างด้านละ 16 เมตร ก่อสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็กข้างในกลวง มีคานยึด ฐานชั้นล่างมีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก ส่วนอีก 3 ด้านสร้างเป็นประตูหลอก การประดับตกแต่งพบที่ผนังฐานชั้นล่างทั้ง 4 ด้านประดับด้วยแผ่นอิฐสีแดง สลักลวดลายรูปบุคคล รูปสัตว์ กนกลายก้านขด และลายใบผักกูด ตอนกลางปรากฏซุ้มประตูประดับแบบฝักเพกาทั้งสี่ทิศ ประดับด้วยปูนปั้นรูปราหูอมจันทร์ ถัดมาเบื้องล่างเป็นบานประตูจำลองสลักเป็นพระพุทธรูปปางต่างๆ ชั้นที่สองจำลองรูปแบบจากฐานชั้นแรก ประดับผนังลวดลายดอกจอก ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานปัทม์ (บัวคว่ำบัวหงายลูกแก้วอกไก่) ประดับลายดอกไม้ที่รองรับองค์ระฆังทรงบัวเหลี่ยมหรือระฆังเหลี่ยมลักษณะเรียวสูงชะลูดมียอดเหมือนปากขวดแก้วประดับด้วยลวดลายช่อต่อดอกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ลดหลั่นกันจนถึงยอด ยอดบนสุดประดับด้วยฉัตรทองคำ จากหลักฐานทางโบราณคดีเท่าที่ปรากฏ สันนิษฐานได้ว่าองค์พระธาตุพนมน่าจะถูกสร้างขึ้นในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 หลักฐานที่สำคัญที่ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่คือ ภาพสลักอิฐแบบโบราณที่ประดับอยู่บริเวณส่วนเรือนธาตุอันมีลักษณะรูปแบบคล้ายศิลปะทวาราวดีแบบฝีมือของช่างพื้นเมือง

 

           เอกลักษณ์ที่สำคัญของวัดพระธาตุพนมฯ คือ องค์พระธาตุพนม ที่มีรูปแบบศิลปกรรมที่ปรากฏบนองค์พระธาตุพนมที่มีความหลากหลายยุคสมัย มีทั้งศิลปะจาม ขอม ทวาราวดีผสมกลมกลืนจนเป็นเอกลักษณ์และเป็นต้นแบบของงานก่อสร้างธาตุเจดีย์ในภาคอีสาน

          กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เรื่องการกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478 และเรื่องการกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 18 กันยายน 2522 กำหนดพื้นที่ประมาณ 17 ไร่ 3 งาน 56 ตารางวา กรมศิลปากรได้บูรณะครั้งหลังสุดเมื่อปีพ.ศ.2518-2522