วัดบ้านสำราญ 


ที่ตั้ง              บ้านสำราญใต้ ถนนนครพนม-หนองคาย ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม

พิกัดทางภูมิศาสตร์       พิกัดแผนที่มาตราส่วน 1:50,000  พิมพ์ครั้งที่ 1-RTSD ลำดับชุด L7018 ระวาง 5943 IV ที่ 48QVE725306 ประมาณรุ้งที่ 17 องศา 27 ลิปดา 41.52  ฟิลิปดา เหนือ  แวงที่ 104 องศา 44 ลิปดา 25.99  ฟิลิปดา ตะวันออก (ค่าพิกัดจาก GPS ที่ 48 P 472452 1930632 (WGS84))

 

แผนที่มาตราส่วน 1:50,000  พิมพ์ครั้งที่ 1-RTSD ลำดับชุด L7018 ระวาง 5943 IV ที่ 48QVE725306

แผนที่ทหารแสดงตำแหน่งวัดบ้านสำราญ

          ประวัติวัดบ้านสำราญ ไม่ปรากฏหลักฐานด้านเอกสารเกี่ยวกับประวัติการก่อสร้างวัดที่แน่ชัด บ้านสำราญได้แบ่งการปกครองออกเป็นบ้านสำราญเหนือและบ้านสำราญใต้ แต่จากการสำรวจพบว่าวัดบ้านสำราญที่ปรากฏในประกาศการขึ้นทะเบียน ปัจจุบันคือวัดบ้านสำราญใต้ วัดสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก สิ่งก่อสร้างที่สำคัญประกอบด้วย พระอุโบสถ องค์พระธาตุ ศิลาจารึก ซึ่ง หนังสือทะเบียนโบราณสถาน 2516 หน้า 506 กล่าวถึงสิ่งสำคัญของวัดบ้านสำราญคือ ศิลาจารึก(ใบเสมา)

 

          ศิลาจารึก(ใบเสมา) มีขนาดกว้าง 47 เซนติเมตร สูง(พ้นดิน) 58 เซนติเมตร หนา 8 เซนติเมตร สร้างจากศิลาทรายสีแดง พบเป็นชิ้นส่วนแผ่นใบเสมาแตกหักเป็นสามส่วน ลักษณะรูปใบหอก ใบเสมานี้ก่อนแตกออกมีความสูงประมาณ 1 เมตร  พบว่ามีข้อความในศิลาจารึก จารึกด้วยอักษรขอม จารึกเป็นข้อความเกี่ยวกับการประกาศขอบเขตวัดและเรื่องการสาปแช่ง ปัจจุบันถูกฝังใว้ในพื้นดินที่มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอุโบสถ  

       ธาตุเจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอุโบสถ เป็นธาตุเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมแบบเจดีย์พื้นถิ่นอีสาน ก่อสร้างก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่บนฐานหน้ากระดานเรียบ ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวคว่ำเหนือขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานคาดด้วยบัวอกไก่ประดับด้วยลายประจำยาม ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังทรงสี่เหลี่ยมสอบปลายสูงตกแต่งที่เชิงด้วยลายกลีบบัว ยอดเป็นทรงคล้ายองค์ระฆังมีส่วนปลียอดแหลมประดับด้วยฉัตรอยู่เหนือยอดเจดีย์ ลักษณะคล้ายองค์พระธาตุพนม

 

          เอกลักษณ์ที่สำคัญของวัดบ้านสำราญใต้ คือ แสดงให้เห็นถึงร่องรอยความเป็นชุมชนโบราณที่มีความสำคัญและธาตุเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลขององค์พระธาตุพนม ที่เป็นรูปแบบที่นิยมสร้างในบริเวณฝั่งแม่น้ำโขงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

          กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เรื่องกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 หน้า 3687 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478