จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม



ที่ตั้ง
 :  ถนนสุนทรวิจิตร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม

พิกัดทางภูมิศาสตร์ :  พิกัดแผนที่มาตราส่วน 1:50,000  พิมพ์ครั้งที่ 1-RTSD ลำดับชุด L7018 ระวาง 5943 I ที่ 48QVE766256 ประมาณรุ้งที่ 17 องศา 24 ลิปดา 57.52  ฟิลิปดา เหนือ  แวงที่ 104 องศา 46 ลิปดา 47.30  ฟิลิปดา ตะวันออก (ค่าพิกัดจาก GPS ที่ 48 P 476614 1925587 (WGS84))

 

แผนที่มาตราส่วน 1:50,000  พิมพ์ครั้งที่ 1-RTSD ลำดับชุด L7018 ระวาง 5943 I ที่ 48QVE766256

แผนที่ทหารแสดงตำแหน่งจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม

          ประวัติอาคารจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม(หลังเก่า) ตามเอกสารหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ออกโดยกรมที่ดิน ระบุว่าได้ซื้อมาจากพระยาอดุลย์เดชเดชา(อุ้ย นาครทรรพ) อาคารก่อสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2455-2457 โดยพระยาพนมนครานุรักษ์ (อุ้ย นาครทรรพ)เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมคนแรกเป็นผู้ให้สร้างขึ้น โดยจ้างช่างชาวญวณชื่อ นายกูบา เจริญ เป็นช่างผู้ก่อสร้างโดยได้รับอิทธิพลในรูปแบบการก่อสร้างจากฝรั่งเศส ในช่วงสมัยสงครามอินโดจีน ต่อมาได้ขายอาคารหลังนี้ให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อใช้เป็นที่พักของผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม อาคาร สร้างหันหน้าไปทางทิศเหนือ หันหน้าเข้าสู่แม่น้ำโขง สิ่งก่อสร้างสำคัญประกอบด้วย อาคารจวนผู้ว่าราชการจังหวัด อาคารไม้ชั้นเดียวเรือนแถวทรงจั่ว(บ้านพักเจ้าหน้าที่) อาคารโรงครัว โดยมีลักษณะศิลปะสถาปัตยกรรม ดังนี้

 จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ลักษณะเป็นอาคารตึกคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น รูปทรงอาคารแบบตะวันตก(ฝรั่งเศส)สไตล์โคโรเนียล อาคารทาด้วยสีเหลือง ประตูและหน้าต่างทาด้วยสีเขียว วัสดุก่อสร้างแบบก่ออิฐถือปูน ใช้ผนังรับน้ำหนักแทนการใช้เสา พื้นชั้นล่างปูกระเบื้องซีเมนต์ลาย ชั้นบนปูไม้กระดานเข้าลิ้น หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้อง เครื่องไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นไม้ตะเคียน การตกแต่งประดับพบที่การสร้างประตูโค้งครึ่งวงกลมและหน้าต่างโค้ง เหนือประตูหน้าต่างเป็นลายปูนปั้นรูปซุ้มโค้ง หลังคาไม่ลาดชันนัก อาคารสร้างเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ปัจจุบันได้ปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดนครพนม แบ่งเป็น 5 ส่วน อยู่ในบริเวณชั้นล่าง 3 ส่วน ชั้นบน 2 ส่วน อาคารหลังนี้มีความสำคัญคือ ในระหว่างวันที่12-13 พฤศจิกายน พ.ศ.2518 ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางจังหวัดนครพนมจึงได้จัดจวนผู้ว่าราชการหลังนี้ให้เป็นที่ประทับแรม อาคารไม้ชั้นเดียวเรือนแถวทรงจั่วได้ปรับปรุงให้เป็น “เฮือนเรือไฟ”(เรือนเรือไฟ)เพื่อจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา และการสร้างเรือไฟของจ.นครพนมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

  

 อาคารแห่งนี้มีเอกลักษณ์ความโดดเด่นคือ การผสมผสานรูปทรงทางสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในท้องถิ่น นับเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความดีเด่นในจังหวัดนครพนม มีความสวยงามโดยเฉพาะลักษณะแบบตะวันตก 

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ เรื่องกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2548 และกำหนดเขตที่ดินประมาณ 4 ไร่ 42.4 ตารางวา