เมืองฟ้าแดดสงยาง


 

      ประวัติเมืองฟ้าแดดสงยางเป็นเมืองในสมัยทวารวดี ตั้งอยู่ในเขตที่ราบลุ่มตอนล่างจังหวัดกาฬสินธุ์ เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ๑๒๐ เมตร ในบริเวณที่ลำน้ำพากับลำน้ำปาวบรรจบกัน สายน้ำทั้งสองได้นำพาดินตะกอนอันสมบูรณ์มาสู่เมือง และพื้นที่ด้านในยังเป็นที่ลุ่มสลับกับเนินเล็กๆ ที่มีหนองน้ำธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ เหมาะสำหรับการตั้งถิ่นฐานบ้านเมือง และมีเกลือสินเธาว์เป็นทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

      ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ พบว่ามีผู้คนอาศัยในเมืองฟ้าแดดสงยางตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย เมื่อราว ๒,๐๐๐ ปีก่อน ตามที่พบหลักฐานวัฒนธรรมการปลงศพโดยการฝังเหยียดยาว ผู้คนอาศัยสืบเนื่องมากระทั่งสมัยทวารวดี ในพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ ที่ได้ขุดพบเครื่องมือเหล็ก เครื่องประดับสำริดประเภทแหวน กำไล ลูกกระพรวน ลูกปัดแก้วสีต่างๆ หม้อมีสัน กาน้ำ ตะคัน ตลอดจนได้พบแวดินเผา และเบี้ยดินเผาแบบต่างๆที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมทวารวดี สมัยต่อมาจึงพบว่าได้สร้างศาสนสถานแบบอยุธยาซ้อนทับลงไปบนฐานศาสนสถานแบบทวารวดี ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๓ ทั้งนี้จากการดำเนินการขุดแต่งโบราณสถานในเมืองฟ้าแดดสงยางของกรมศิลปากรตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๐-๒๕๔๑ พบโบราณสถานทั้งสิ้น ๑๘ แห่ง

 

      ลักษณะการก่อสร้างกำแพงเมืองคูเมือง มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๑,๐๐๐ เมตร ยาว ๑,๘๐๐ เมตร มีคันดินสูงราว ๒-๓ เมตร ล้อมรอบ ๒ ชั้น ระหว่างกลางเป็นคูน้ำกว้างโดยเฉลี่ยประมาณ ๑๘ เมตร ภายในตัวเมืองมีเนินดิน ๓ แห่ง แห่งแรกอยู่ทางตอนเหนือของตัวเมือง แห่งที่ ๒ เป็นเนินดินรูปตัว L อยู่ถัดลงมาจากเนินดินแห่งแรก แห่งที่ ๓ เป็นเนินดินขนาดใหญ่กลางเมือง ส่วนพื้นที่นอกเมืองฟ้าแดดสงยางทางทิศเหนือ พบเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๒๕๐ เมตร ยาว ๕๐๐ เมตร และทางตอนใต้ของเมืองมีหนองนกพิด อันเป็นหนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ที่วางตัวขนานไปกับแนวคูเมืองด้านทิศใต้ มีพระธาตุยาคูเป็นเจดีย์สำคัญของเมือง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง  

      เอกลักษณ์ของเมืองฟ้าแดดสงยาง คือ การเป็นเมืองสำคัญในสมัยทวารวดีที่มีผู้คนอยู่อาศัยสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายจนถึงสมัยอยุธยา หรือประมาณเมื่อ ๑,๓๐๐-๓๐๐ ปีมาแล้ว

      กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเมืองฟ้าแดดสงยาง ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๙๑๐ ไร่ ๓ งาน ๗๕ ตารางวา ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย