ประวัติหินแป้น หรือใบเสมาหินทรายที่เรียกจารึกบ้านหินแป้น หรือจารึกวัดเก่า หรือจารึกวัดบ้านหนองห้าง ตามชื่อสถานที่ซึ่งจารึกได้เคลื่อนย้ายไปแต่ละแห่ง เมื่อแรกพบตั้งอยู่ริมห้วยหลักทอด บริเวณบ้านหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และมีหลักฐานคู่กับสำเนาจารึกว่า แผ่นศิลานี้อยู่ที่กลางป่าเนินวัดเก่า ท้องที่ตำบลบัวขาว ห่างจากที่ว่าการอำเภอกุฉินารายณ์ประมาณ ๘๐ เส้น ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ คณะสำรวจเอกสารโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้พบจารึกนี้อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น เจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่น บันทึกไว้ว่าได้จารึกนี้มาจากบ้านหินแป้น ตำบลบัวขาว อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์  

 

          ลักษณะจารึกบ้านหินแป้น เป็นใบเสมาหินทรายสีแดงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามียอดสอบเข้าหากัน คล้ายกลีบบัว ขนาดกว้าง ๗๕ เซนติเมตร ยาว ๒๔๐ เซนติเมตร หนา ๒๕ เซนติเมตร มีจารึกอักษรหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต พุทธศตวรรษที่ ๑๕ จำนวน ๑ ด้าน มี ๑ บรรทัด อ่านว่า อารฺยฺยายศฺรีพชฺรวรฺมฺม หมายถึง พระนามพระศรีพัชรวรมันผู้ควรแก่การเคารพ เมื่อพิจารณาจากรูปอักษร “พ” “ช” และ “ย” ในจารึกบ้านหินแป้น พบว่ามีรูปแบบเหมือนกับตัวอักษณในศิลาจารึกเสาแปดเหลี่ยม จังหวัดลพบุรี ที่กำหนดอายุไว้ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔

          นอกจากนี้ ในพื้นที่อำเภอกุฉินารายณ์ยังพบใบเสมาหินทรายที่สลักรูปเจดีย์และหม้อน้ำ ใบเสมาแบบแท่งหินสี่เหลี่ยมด้านเท่าที่ชาวบ้านเรียกหลักทอด ใบเสมาแบบแท่งหินสลักภาพพระพุทธรูปปางแสดงธรรม และใบเสมาที่มีจารึกอักษรหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤตอีก ๑ หลัก ทั้งหมดปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น

          ความสำคัญของจารึกบ้านหินแป้น คือ การเป็นจารึกอักษรหลังปัลลวะภาษาสันสกฤต ที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการสังคมสมัยทวารวดีในภาคอีสาน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ 

          กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนจารึกบ้านหินแป้น ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙ ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย