ประวัติโนนสาวเอ้ พบในตำนานพื้นถิ่นอีสาน ๒ เรื่อง คือ ตำนานเมืองฟ้าแดดสูงยาง กับตำนานผาแดงนางไอ่ ตำนานเรื่องแรกเล่าถึงที่มาของชื่อ เกี่ยวข้องกับธิดาของพระญาจันทร์ (พระญาฟ้าแดด) กับนางเขียวค่อม ซึ่งมักไปเล่นน้ำที่หนองบึงบอน และขึ้นมาแต่งตัวบนเนินดินข้างหนองน้ำ เพราะเป็นเนินดินอันเป็นสถานที่สำหรับแต่งตัวของหญิงสาวให้สวยงาม จึงเรียก โนนสาวเอ้ โดยคำว่า เอ้ ในภาษาถิ่นอีสาน หมายถึง สวยงาม ส่วนตำนานเรื่องที่ ๒ เล่าถึงการใช้ประโยชน์บนที่ดินโนนสาวเอ้ ว่าเป็นสถานที่ซึ่งพระญาขอมใช้จัดประเพณีจุดบั้งไฟแข่งขันพนันเอาบ้านเมือง มีนัยหมายถึงสถานที่อันกว้างขวางอันเป็นแหล่งชุมนุมของผู้คนในเมืองฟ้าแดดสูงยาง ปัจจุบันโนนสาวเอ้มีสภาพเป็นเนินขนาดใหญ่กลางทุ่งนา ภายในมีโบราณสถานสำคัญ คือ สิมกับเจดีย์ที่สร้างในปี พ.ศ.๒๔๙๙ โดยพระราชพรหมจริยคุณ อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์

          ลักษณะสถาปัตยกรรมเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงมณฑปยอดระฆัง สร้างก่ออิฐถือปูนที่ต่อห้องมุขยื่นออกมาทางทิศตะวันออกในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ในส่วนมณฑปย่อเก็จ มีประตูทางเข้า ๓ ด้าน ยกเว้นด้านหลัง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป เหนือมณฑปเป็นองค์ระฆังย่อเก็จ ตั้งบนฐานบัวย่อเก็จ ส่วนยอดเป็นชั้นกลีบบัวกลม สลับกับชั้นหน้ากระดานกลม ๓ ชั้น รับปล้องไฉนและปลียอด   

          ลักษณะสถาปัตยกรรมสิม ปัจจุบันคงเหลือเพียงส่วนฐานรูปสี่เหลี่ยม

          สระน้ำที่ปรากฏในตำนานเมืองฟ้าแดดสูงยาง อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโนนสาวเอ้ ปัจจุบันได้รับการขุดแต่งเป็นหนองน้ำ สำหรับใช้ในการประมงของหมู่บ้านนาบึง

ความสำคัญของโนนสาวเอ้ คือ การเป็นสถานที่หนึ่งของเมืองฟ้าแดดสูงยาง ที่พบการกล่าวถึงในตำนานพื้นถิ่นอีสานสำคัญ ๒ เรื่อง คือ ตำนานเมืองฟ้าแดดสูงยาง กับตำนานผาแดงนางไอ่         

          กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานโนนสาวเอ้ ในราชกิจจานุเษกษา วันที่ ๓ มกราคม ๒๔๘๐ และกำหนดเขตที่ดินในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๕ เนื้อที่ประมาณ ๕ ไร่ ๑ งาน ๑๐ ตารางวา ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย