วัดโพธิ์ชัย


          ประวัติวัดโพธิ์ชัยบ้านหนองห้าง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๔ เดิมเรียกวัดโพธิ์ไทร เพราะบริเวณที่สร้างวัดมีต้นไทรใหญ่ ภายในวัดมีโบราณสถานสำคัญ คือ สิม ที่ไม่ปรากฏหลักฐานที่เป็นประวัติการก่อสร้าง แต่ภายหลังได้บูรณะสิมให้เป็นไปตามลักษณะสถาปัตยกรรมเวียดนาม เช่น การทำช่องแสงแบบซี่ลูกกรง การต่อชานบันไดที่มีทางขึ้นทั้งด้านซ้ายและขวา การทำบันไดให้ผายออก และการตกแต่งด้วยลายลู่อี้ เป็นต้น

         ลักษณะสถาปัตยกรรมสิมวัดโพธิ์ชัย เป็นสิมทรงพื้นถิ่นอีสานที่รับอิทธิพลศิลปะญวน สร้างก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งบนฐานสูงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นสิมขนาด ๓ ห้อง สองห้องแรกเจาะช่องให้แสงสว่างส่องเข้าไปในอาคาร ห้องสุดท้ายทึบใช้เป็นห้องประดิษฐานพระพุทธรูป ผนังด้านหน้าตกแต่งเป็นซุ้มโค้ง ๓ ช่อง ตรงกลางเป็นประตูทางเข้ามีบันไดทางเข้าสิม ด้านข้างเป็นซุ้มหลอกเจาะช่องแสงด้านล่าง พื้นที่ว่างระหว่างซุ้มโค้งเหนือเสา ตกแต่งลวดลายดอกโบตั๋นในแจกันหรือลายลู่อี้ ล้อมรอบช่องสี่เหลี่ยมที่ประดับแผ่นกระจกใส อาคารที่ต่อระเบียงออกไปด้านหน้า ก่อผนังเตี้ยๆประดับลูกกรงด้านบนโดยรอบ เว้นเป็นประตูทางขึ้นในตอนกลางด้านหน้า ลดชั้นเป็นทางเดินลงไปยังบันไดทิศเหนือและทิศใต้ หัวบันไดเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ โครงสร้างอาคารใช้เสาและผนังรับน้ำหนักหลังคาจั่วชั้นเดียวมุงสังกะสี บริเวณห้องระเบียงและชานบันไดไม่มีหลังคา หลังคาตกแต่งด้วยโหง่ ใบระกา หางหงส์เป็นรูปนาคเกี่ยวคล้องต่อเนื่องกัน ๕ ตัว แกะลายดอกลอยปิดหัวแปทุกตัว หน้าบันแต่งปูนเป็นช่องสามเหลี่ยม ๒ ช่องตอนบน ช่องสี่เหลี่ยม ๒ ช่องตอนล่าง ภายในสิมประดิษฐานพระพุทธรูป ฝีมือช่างพื้นถิ่นอีสาน ก่อสร้างด้วยวัสดุก่ออิฐถือปูน ประทับนั่งในลักษณะวางพระหัตถ์เหนือพระชานุทั้งสองข้าง พระพักตร์กลม ขมวดพระเกศาเล็กแบบหนามขนุน พระรัศมีเป็นกรวยสูง พระกรรณขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับพระพักตร์ ไรพระศกโค้งไปตามกรอบพระพักตร์ พระขนงเป็นสันนูน พระเนตรเปิด พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์หนาทาสีแดง ครองจีวรห่มดอง สังฆาฏิเป็นแผ่นยาว และผูกผ้ารัดอก   

         เอกลักษณ์ของสิมวัดโพธิ์ชัยบ้านหนองห้าง คือ การเป็นสิมพื้นถิ่นอีสานที่รับอิทธิพลศิลปะญวน ในระยะหลังปี พ.ศ.๒๔๗๕  

        กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน วัดโพธิ์ชัยบ้านหนองห้าง ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๒ เนื้อที่โบราณสถานประมาณ ๒ ไร่ ๒ งาน ๖๖.๘๔ ตารางวา โบราณสถานแห่งนี้ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ.๒๕๕๓ ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย

  

 

          ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม สิม (โบสถ์) 1 หลัง สิมวัดโพธิ์ชัย มีลักษณะเป็นสิมทึบที่ได้รับรูปแบบอิทธิพลช่างญวน ก่ออิฐถือปูน ขนาด 3 ห้องด้านหน้าซึ่งหันไปทางด้านทิศตะวันออก ทำชานมุขยื่นออกมา โดยทำบันไดเป็นทางขึ้นมุข 2 ข้าง (ซ้าย-ขวา) ฐานสิมทำบัวลูกแก้วอกไก่ 1 ชั้น

           ถัดขึ้นไปในส่วนของผนังสิมด้านทิศเหนือและทิศใต้ ช่างได้เจาะช่องลมเล็ก ๆ ห้องละ 2 ช่อง แทนการทำช่องหน้าต่างยกเว้นห้องที่ประดิษฐานพระประธานห้องเดียวที่ก่อเป็นผนังทึบไม่ได้เจาะช่องลม ส่วนผนังสิมด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นทางเข้า ก่อกรอบซุ้มประตูทรงอาร์คโค้ง 3 ช่อง เข้าได้จริงเพียงช่องกลางช่องเดียวส่วนอีก 2 ช่อง ทำเป็นกรอบประตูหลอก

 ในส่วนของหลังคามุงด้วยสังกะสีทำเป็นทรงจั่วชั้นเดียวปัจจุบันมีการสร้างอาคารหลังคาคลุมติดกับสิมด้านทิศตะวันตกเพื่อเก็บรักษาใบเสมาที่พบบริเวณบ้านหนองห้าง และทางวัดได้สร้างกำแพงแก้วล้อมรอบสิมดังเช่นที่เห็นในปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2543

 สิมโพธิ์ชัย จัดเป็นศิลปกรรมพื้นถิ่นอายุสมัยรัตนโกสินทร์ ราวพุทธศตวรรษที่ 24 – 25

  

 โบราณวัตถุที่พบในสิม

 1) พระพุทธรูปปูน (พระประธาน) จำนวน 1 องค์

 2) พระพุทธรูปสำริด ปางสมาธิจำนวน1 องค์ (ตั้งอยู่บนฐานชุกชีด้านซ้ายพระประธาน)

 3) พระพุทธรูปปูน (องค์เล็ก)จำนวน4 องค์ (ตั้งอยู่ข้างฐานชุกชีด้านขวาพระประธาน)

 4) ประติมากรรมนูนต่ำ ทำด้วยหินแกะสลักเป็นรูปพระพุทธรูปจำนวน 2 องค์ (ตั้งอยู่ข้างฐานชุกชีด้านขวาพระประธาน)

โบราณวัตถุอื่น ๆ ที่อยู่ภายในวัด (ตั้งอยู่ภายนอกสิม)

 1) ใบเสมาหินทรายสีแดงจำนวน 8 ใบมีทั้งสลักลวดลาย และแบบเรียบตั้งอยู่ ในอาคารหลังคาคลุมติดกับสิมด้านทิศตะวันตก พบเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว นักวิชาการสามารถตีความใบเสมาที่มีลวดลายได้บางใบโดยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชาดกทางพระพุทธศาสนา

 2) ชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมได้แก่ ลำยอง โหง่ ใบระกา ทำด้วยไม้แกะสลักเป็นส่วนประกอบเครื่องบนของสิมตั้งแต่แรกสร้างหลังจากผุพังตกหล่นทางวัดจึงได้เก็บรักษาไว้ในอาคารหลังคาคลุมที่เดียวกับที่เก็บใบเสมาหินทราย

 3) ปวง (โปง) จำนวน 1 ใบทำด้วยไม้ แกะสลักลวดลายเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ผสมกับลวดลายกระหนกเก็บรักษาอยู่ในอาคารหลังคาคลุมที่เดียวกับที่เก็บใบเสมาหินทราย

 4) หอธรรมาสน์จำนวน 1 หลังตั้งอยู่บนศาลาด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสิมเป็นธรรมาสน์เก่าที่สร้างมาตั้งแต่แรกสร้างสิมยังใช้งานเรื่อยมาแต่ในปัจจุบันพระภิกษุในวัดชราภาพทุกองค์จึงไม่สะดวกที่จะใช้งาน

 5) เสาหอธรรมาสน์ จำนวน 1 ต้นทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ผสมกับลวดลายกระหนกเสาดังกล่าวเป็นเสาหอธรรมาสน์ต้นเดิมที่สร้างขึ้นคู่กับหอธรรมาสน์ที่ใช้ในปัจจุบันส่วนเสาที่รองรับหอธรรมาสน์ในปัจจุบันเป็นต้นใหม่ที่ได้ถ่ายแบบลวดลายมาจากเสาเดิมต้นนี้ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ข้างกุฏิที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของสิม